เมื่อถึงวัยหนึ่งร่างกายอาจเริ่มเสื่อมถอย ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายเริ่มลดลง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องของ ‘ฟัน’ ที่เมื่อเราอายุมากขึ้นก็ถึงเวลาเสื่อมสมรรถภาพไปตามระยะเวลา แน่นอนว่า ก็ต้องหาเครื่องมือทดแทนที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม นั่นก็คือ ‘ฟันปลอม’ แต่ว่าจะเลือกฟันปลอมแบบไหนดี ควรเลือกทำที่ไหน มีข้อดีอย่างไร และใครบ้างที่ควรใส่ฟันปลอม วันนี้ทางคลินิกทันตกรรมสีวลีของเรามีคำตอบมาฝากแล้ว
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
ฟันปลอม คืออะไร
ฟันปลอม (Prosthodontics) คือ ฟันที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ทดแทนฟันตามธรรมชาติที่สูญเสียไป รวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดฟันแตกหรือฟันหัก อายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเกิดจากการถอนในการรักษาฟันผุ หรือฟันโยกจากอาการเหงือกอักเสบ และเหงือกร่นได้ ส่วนวัสดุที่นำมาทำฟันปลอมนั้นมักทำจากโลหะเจือนิเกิล-โครเมียม ไททาเนียม หรือ อะคริลิกเรซิน โดยฟันปลอมฟันเทียมในปัจจุบันมีให้เลือกด้วยกันหลายแบบ ซึ่งคุณสามารถดูรายละเอียดได้ในหัวข้อถัดไป
ฟันปลอม มีกี่แบบ
สำหรับประเภทของฟันปลอมจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
- ฟันปลอมแบบติดแน่น (Fixed Prosthodontics)
- ฟันปลอมแบบถอดได้ (Removable Prosthodontics)
ฟันปลอมแบบติดแน่น (Fixed Prosthodontics)
ฟันปลอมแบบติดแน่น คือ ฟันปลอมที่ต้องอาศัยการยึดฟันธรรมชาติโดยการกรอฟันให้เล็กลง เพื่อจะต้องทำการครอบฟันให้ติดกับตัวฟันปลอม และฟันปลอมชนิดนี้ผู้ที่ใส่ไม่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาด ภายนอกช่องปากได้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีวิธีการทำฟันปลอมแบบติดแน่นหลายแบบ เช่น
1. ครอบฟัน (Crown)
วิธีการครอบฟัน คือ การครอบหรือคลุมฟันที่เสียหายไว้ด้วยฟันปลอมติดเเน่นที่ทำจากวัสดุประเภทโลหะหรือเซรามิก ทำให้สามารถทดแทนฟันจริง เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับตัวฟัน เพื่อความสวยงามในฟันหน้าได้ เพื่อปกป้องเนื้อฟันเดิมที่เหลืออยู่ และเป็นการรักษารากฟันไว้ได้ นอกจากนี้ การทำครอบฟันนั้นจะทำบนฟันธรรมชาติที่มีราก หรือทำบนรากเทียมเท่านั้นด้วย
2. สะพานฟัน (Bridge)
การทำสะพานฟัน คือ วิธีการทำฟันเทียมบางส่วนให้ติดแน่นกับส่วนของครอบฟันยึดติดกับฟันธรรมชาติทั้งสองข้าง และมีส่วนของฟันแขวนอยู่ตรงกลาง ใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่หายไป 1-2 ซี่ โดยทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้คนไข้เลือกใช้สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกผสมโลหะ สำหรับการทดแทนฟันกรามซึ่งใช้ในการบดเคี้ยว และแบบเซรามิกล้วนในการทดแทนฟันหน้า ซึ่งการทำสะพานฟันแบบเซรามิกจะมีความใส สวยงาม เหมือนฟันตามธรรมชาติจึงเหมาะจะเลือกใช้ทำฟันหน้าเป็นพิเศษ
3. การอุดฟัน Onlays และ Inlay
การอุดฟัน Onlays และ Inlay คือ การอุดฟันด้านในของตัวฟัน (Intracoronal Restoration) ซึ่งช่วยในการซ่อมแซมฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปค่อนข้างมาจากฟันผุหรือฟันแตกจนเกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่เกินกว่าจะทำการอุดฟันตามปกติ แต่ก็ต้องมีเนื้อฟันเหลือเพียงพอที่จะทำการซ่อมแซมได้ด้วย
4. วีเนียร์ (Veneer)
การทำวีเนียร์ หรือ เคลือบฟันเทียม เป็นวิธีการปิดแผ่นเคลือบฟันลงไปที่บริเวณผิวหน้าฟันที่สามารถแก้ความบกพร่องของฟันให้กลับมาสวยงาม เคลือบฟันขาว ยิ้มได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง จึงเหมาะกับผู้ที่มีความผิดปกติของฟันเพียงเล็กน้อย เช่น สีฟันไม่สวย ฟันไม่สบกัน ฟันไม่เท่ากัน ปัญหาฟันเล็ก เป็นต้น
5. รากฟันเทียม (Dental Implants)
รากฟันเทียม คือ การฝังวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันลงบนกระดูกขากรรไกร กระดูก รากฟัน หรือใต้เหงือก เพื่อทดแทนรากฟันจริงในตำแหน่งที่สูญเสียฟันเเละรากฟันธรรมชาติไป และให้เหมาะกับการใส่ฟันปลอม ทั้งแบบถอดได้และแบบติดแน่น
ฟันปลอมแบบถอดได้ (Removable Prosthodontics)
1. ฟันปลอมทั้งปาก (ใช้แทนฟันบนหรือฟันล่างทั้งหมดของคนไข้)
จะเป็นฟันปลอมที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปทั้งปาก โดยจะมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- ฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิม จะเป็นการทำฟันปลอมที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นเนื้อเยื่อหลังจากทำการถอนฟันออก ทำให้ช่วงหนึ่งคุณจะไม่มีฟัน โดยจะเหมาะกับผู้ที่สูญเสียฟันไปทั้งปากหรือเหลืออยู่เพียงไม่กี่ซี่ (โดยมากจะไม่เกิน 6 ซี่)
- ฟันปลอมทั้งปากแบบใส่ได้ทันที ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อทำฟันปลอม ก่อนที่จะทำการถอนฟันให้คนไข้ ซึ่งหลังจากการถอนฟัน คนไข้สามารถที่จะสวมใส่ฟันปลอมได้ทันที แต่การทำฟันปลอมประเภทนี้จะช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียฟันระดับเบื้องต้นและชั่วคราวเท่านั้น หลังจากที่บริเวณเหงือกมีสภาพปกติดีแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มทำฟันปลอมแบบดั้งเดิมให้แทน
2. ฟันปลอมบางส่วน สำหรับใส่ทดแทนที่ฟัน 1-3 ซี่ที่หายไป
จะเป็นฟันปลอมที่ทำขึ้นสำหรับคนไข้ที่สูญเสียฟันไปบางซี่เท่านั้น แต่ยังมีฟันแท้เหลืออยู่ ทำได้จากวัสดุหลายประเภท เช่น โลหะ อะคริลิกเรซิน ไนลอน แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ซึ่งจะใช้ฟันปลอม-ฟันเทียมชนิดไหนขึ้นอยู่กับลักษณะฟัน และจุดประสงค์ของคนไข้รายนั้นๆ ด้วย
ฟันปลอม แต่ละแบบใช้วัสดุอะไรในการทำ
วัสดุทำฟันปลอมแบบติดแน่น
จะมีอยู่ด้วยกันประมาณ 3 ชนิด คือ
- ฟันปลอมติดแน่นแบบโลหะ
วัสดุจะทำมาจากทั้งโลหะทั้งแผ่น ส่วนใหญ่จะใช้กับฟันกรามสำหรับบดเคี้ยว
- ฟันปลอมติดแน่นแบบพลาสติก
จะเหมาะสำหรับการใส่แบบชั่วคราว ส่วนใหญ่จะใช้ในช่วงที่รอให้แผลถอนฟันหายดี
- ฟันปลอมติดแน่นแบบผสม
เช่น เซรามิก ฐานโลหะพอกด้วยพอสเลน จะเหมาะกับบริเวณฟันหน้าที่ต้องการให้ฟันมีความสวยงามเหมือนฟันแท้ และสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้อย่างเป็นธรรมชาติ
วัสดุทำฟันปลอมแบบถอดได้
จะใช้วัสดุหลักๆ อยู่ด้วยกันประมาณ 3 ชนิด ได้แก่
- ฟันปลอมแบบฐานพลาสติก
จะมีลักษณะเป็นฟันปลอมพลาสติกเป็นซี่ๆ ยึดอยู่กับฐานฟันปลอมที่ทำจากอะคริลิกสีชมพู ตกแต่งให้ดูคล้ายคลึงกับเหงือกธรรมชาติ โดยทำออกมาได้ทั้งแบบเป็นซี่ๆ หรือหลายซี่ ส่วนใหญ่จะใช้ในคนไข้ที่ยังไม่เคยใส่ฟันปลอม เพื่อช่วยในการปรับตัวว่าใช้งานได้ถนัดหรือไม่
- ฟันปลอมแบบฐานนิ่ม
จะมีลักษณะคล้ายกับฟันปลอมฐานพลาสติก แต่ในส่วนบริเวณฐานฟันปลอม แทนที่จะทำด้วยอะคริลิกแข็ง จะทำด้วยวัสดุพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นที่ตกไม่แตก และไม่ค่อยหักง่ายแทน ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่ฟันหายไปจำนวนน้อยๆ เช่น 1 หรือ 2 ซี่ แต่ในบางกรณี อาจใช้ในผู้ที่มีฟันหายไปมากกว่านั้น
- ฟันปลอมแบบฐานโลหะ
จะมีลักษณะบางเเละเเนบกับเหงือกได้มากกว่าจากการที่เปลี่ยนในส่วนบริเวณฐานเป็นโครงโลหะแทน จึงทำให้คนไข้รู้สึกรำคาญน้อยกว่าเเบบฐานพลาสติกเเละมีความทนทานมากกว่า รวมถึงมีอายุการใช้งานที่มากกว่า เนื่องจากโลหะไม่ดูดสีและกลิ่น โดยถ้าดูแลรักษาดีๆ ฟันปลอมถอดได้โครงโลหะ อาจมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี แต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่อาจมองเห็นตะขอสีเงินได้ในบางบริเวณ
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ฟันปลอมติดแน่นและฟันปลอมถอดได้
ฟันปลอมทั้ง 2 รูปแบบมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณสามารถนำมาใช้ในการพิจารณาเลือกรูปแบบของฟันปลอมที่คุณต้องการได้ ดังนี้
ข้อดี-ข้อเสียของฟันปลอมแบบติดแน่น
ข้อดี
- ดูสวยงามและเป็นธรรมชาติเหมือนกับฟันแท้
- แข็งแรง ทนทาน มีประสิทธิภาพเหมือนกับฟันธรรมชาติ
- ไม่รู้สึกรำคาญเวลาเคี้ยว
- อายุการใช้งานยืนยาว เพราะเป็นฟันปลอมถาวร
- ไม่ทำให้สันเหงือก หรือสันกระดูกเกิดการยุบตัว
ข้อเสีย
- มีราคาที่ค่อนข้างแพง
- ใช้ระยะเวลาในการทำนานกว่า เนื่องจากมีความซับซ้อน และต้องทำในช่องปากของคนไข้
- อาจเกิดฟันผุใต้ที่ครอบฟันได้ ถ้าทำความสะอาดไม่ดี
- อาจจะทำให้เกิดการเจ็บมากกว่าการทำฟันปลอมแบบถอดได้ เนื่องจากต้องมีการใส่ยาชา เพื่อกรอฟันธรรมชาติ
ข้อดี-ข้อเสียของฟันปลอมแบบถอดได้
ข้อดี
- ราคาถูกกว่าการทำฟันปลอมแบบติดแน่น
- สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ง่าย
- ใช้เวลาในการทำเร็วและไม่ซับซ้อน
- ใช้ในกรณีที่ฟันหลักไม่แข็งแรงและไม่สามารถทำการติดฟันปลอมแบบติดแน่นได้
- ใช้ทดแทนฟันที่หายไปได้หลายๆ ซี่
- ใช้เป็นฟันปลอมชั่วคราวระหว่างรอการรักษาแบบอื่นๆ ได้ อีกทั้งช่วยประเมินความสวยงามและการใช้งานของฟันปลอมติดแน่นได้ด้วย
- สามารถทดแทนและแก้ไข้กรณีที่มีเหงือกและกระดูกหายไปเป็นจำนวนมาก
ข้อเสีย
- ก่อให้เกิดความรำคาญในขณะใส่ เนื่องจากมีโอกาสหลุดได้
- อาจมีเศษอาหารติดอยู่ตามใต้ฟันปลอมได้
- อาจจะไม่ค่อยสวยงาม เพราะอาจจะเห็นตะขอติดฟันปลอม
- หากทำฟันปลอมที่เป็นฐานอะคริลิก (พลาสติก) อาจเปราะหักได้ง่าย
- อาจทำให้สันเหงือก หรือสันกระดูกเกิดการยุบตัว เนื่องจากรับแรงกดจากการบดเคี้ยวอาหารอยู่เป็นประจำ
ลักษณะการทำฟันปลอม
ฟันปลอม ทั้งปากแบบดั้งเดิม
สำหรับใครที่ต้องการทำฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิมจะพบว่า หลังจากทำการถอนฟันออกจนหมดแล้ว จำเป็นที่จะต้องพักฟื้นเนื้อเยื่อ และต้องรอให้แผลจากการถอนฟันสมานตัวดีเสียก่อน (ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน และช่วงนี้คุณจะยังไม่มีฟัน) จึงจะทำการพิมพ์ปากเพื่อสร้างแบบจำลองฟัน การทำแบบจำลองฟันช่วยให้ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยและทำฟันปลอมให้มีขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมที่สุด
หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดให้คุณลองฟันปลอมแบบชั่วคราวแก่คนไข้เพื่อตรวจดูตำแหน่ง และรูปร่างรวมถึงความสะดวกสบายขณะสวมใส่ และปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะทำการผลิตฟันปลอมชุดจริง ซึ่งหลังจากที่คุณได้รับฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิมไปใช้งานแล้ว ทันตแพทย์จะยังทำการนัด เพื่อติดตามผลการใช้งานอีกครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนัดมาตรวจเช็กทุก 6 เดือน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์
ฟันปลอม ทั้งปากแบบทันที
ฟันปลอมทั้งปากแบบทันที ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากก่อนการถอนฟัน เพื่อให้ช่างสามารถทำฟันปลอม ที่มีลักษณะเหมือนฟันเดิมได้ทันที เมื่อถึงวันนัดถอนฟันคนไข้จะมีฟันปลอมใส่ได้ทันที
และถึงแม้ว่าฟันปลอมทั้งปากแบบทันทีจะช่วยให้คนไข้ไม่ต้องอยู่แบบไม่มีฟัน แต่ฟันปลอมชนิดนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหลายเดือนหลังจากที่ใส่ไปแล้ว เนื่องจากระดูกรองรับฟันและเหงือกบริเวณนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงและยุบตัวลง คนไข้อาจจำเป็นต้องเข้ารับการปรับแต่งฟันปลอมดังกล่าวให้มีความพอดีกับบริเวณนั้นๆ เพื่อความสะดวกสบายของคนไข้ขณะสวมใส่ และจะเป็นฟันปลอมที่ใช้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ฟันปลอม แบบบางซี่
จะเป็นการทำฟันปลอมให้โครงโลหะยึดติดกับฟันธรรมชาติ บางครั้งอาจต้องมีการครอบฟันที่ฟันธรรมชาติเพื่อทำหน้าที่เหมือนฟันปลอมด้วยในกรณีที่ไม่ได้สูญเสียฟันนั้นไปทั้งซี่ แต่ถ้าหากเกิดจำเป็นต้องถอนฟันออกไปเลยทั้งซี่ ก็อาจจะต้องติดตั้งเครื่องมือโดยมีครอบฟันไว้ตรงกลางทดแทนซี่ที่สูญเสีย และทำสะพานฟันเพื่อยึดซี่ข้างเคียงไว้
ใครบ้างที่ควรใส่ฟันปลอม
- คนที่ฟันเริ่มมีปัญหา รูปร่างฟันผิดปกติจากการ บิ่น เเตก
- คนที่สูญเสียฟันในตรงตำแหน่งนั้นไป และไม่สามารถรักษารากฟันได้
- ผู้สูงอายุ
- ไม่มีความมั่นใจในการพบปะผู้คนจากการสูญเสียฟันตามธรรมชาติ
- มีปัญหาฟันผุ เพราะเศษอาหารมันจะเข้าไปติดตามซอกเหงือกที่ไม่มีฟัน
- มีปัญหาพูดไม่ชัดในกรณีที่ฟันด้านหน้าหลุด
- มีปัญหาเรื่องการเคี้ยวอาหาร โดยมักจะเคี้ยวอาหารเพียงข้างเดียวทำให้บดเคี้ยวไม่ละเอียดเกิดความเมื่อยล้าบริเวณกรามและกระเพาะอาหารทำงานหนัก
- คนที่ต้องถอนฟันเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
- คนที่ต้องใส่ฟันปลอมอยู่เเล้ว แต่ฟันปลอมไม่พอดี ต้องมีการปรับฟันปลอมใหม่ (Reline) เพื่อใส่ให้กระชับไม่เจ็บเหงือก
ใครบ้างที่ไม่ควรใส่ฟันปลอม
จริงๆ แล้วคนไข้ทุกคนควรทำฟันปลอมไม่แบบใดก็แบบหนึ่งเมื่อเกิดการสูญเสียฟันแท้ขึ้น ยกเว้นว่า อยากทำฟันปลอมด้วยเทคนิคบางประเภทที่อาจจะไม่เหมาะกับคนบางกลุ่ม เช่น ต้องการทำฟันปลอมด้วยการทำรากฟันเทียม ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับเด็กที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีเพราะกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ในกรณีที่คนไข้ตั้งครรภ์ ควรคลอดบุตรก่อนทำรากเทียม เป็นต้น
ทั้งนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ว่า คุณเหมาะที่จะทำฟันปลอมประเภทใดมากที่สุด แต่รับรองว่า จะมีรูปแบบการทำฟันปลอมที่เหมาะกับช่องปากของคุณอย่างแน่นอน
เลือกทำฟันปลอมแบบไหนดี
หากคุณสนใจทำฟันปลอม จะต้องไปพบกับทันตแพทย์เพื่อตรวจสภาพช่องปากเสียก่อน เนื่องจากคนเราแต่ละคนก็เหมาะกับฟันปลอมแตกต่างกัน ซึ่งก็ควรเลือกให้เหมาะสมที่สุด โดยคุณจะต้องแจ้งเกี่ยวกับโรคประจำตัวโดยละเอียดให้ทันตแพทย์ได้รับรู้ เพื่อจะได้ประเมินและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง เช่น
หากคุณสูญเสียฟันไปหลายๆ ซี่ก็จะเหมาะกับการทำฟันปลอมแบบถอดได้ หรือถ้าหากฟันข้างเคียงไม่เเข็งเเรง พอที่จะรองรับตะขอใส่ฟันปลอม ก็อาจจะใช้การติดฟันปลอมแบบติดแน่นมากกว่า ส่วนในผู้สูงอายุก็มีวิธีการทำฟันปลอมหลายรูปแบบที่เหมาะสม ถ้าหากขี้ลืม หรือมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว เบื่ออาหาร ขี้รำคาญ การทำฟันปลอมแบบติดแน่นด้วยการทำรากฟันเทียมอาจจะเหมาะสม ยกเว้นภาวะกระดูกพรุน เบาหวาน โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง โรคมะเร็งที่ต้องฉายแสง หรือมีปัญหาตำแหน่งกระดูกไม่เหมาะที่จะฝังรากฟันเทียมก็อาจจะต้องพิจารณาทำฟันปลอมในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป
ขั้นตอนการทำฟันปลอม
การทำฟันปลอมกับคลินิกนั้นไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อนมากนัก โดยมี 4 ขั้นตอนคร่าวๆ ที่คุณจะต้องทำและใช้เวลา 3 สัปดาห์ – 1 เดือน เพื่อพัฒนาฟันปลอมให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ ดังต่อไปนี้
1. เข้าพบทันตแพทย์
โดยทันตแพทย์จะทำการซักถามประวัติจากคนไข้ เริ่มการตรวจช่องปาก ถ่ายรูป X-ray พิมพ์แบบจำลองช่องปากของคนไข้ หรือสแกนแบบดิจิทัลเพื่อวัดช่องว่างของฟันเเละลักษณะการกัด
2. ตรวจการเรียงตัวของฟัน
ทันตแพทย์จะทำการตรวจการเรียงตัวของฟัน เลือกสีฟันที่ใกล้เคียงกับฟันเดิม เเละสร้างฟันปลอมขึ้นมาบนแบบจำลอง เพื่อให้ได้รูปฟันที่สวยงาม และมีขนาดพอดีใส่ในช่องปากมากที่สุด
3. เตรียมช่องปากให้พร้อม
สำหรับเคสที่ต้องมีการถอนฟันร่วมด้วย ต้องเลือกรูปแบบการทำฟันว่าต้องการทำฟันปลอมแบบดั้งเดิม หรือต้องการทำฟันปลอมแบบใส่ได้ทันที (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทันตแพทย์ร่วมด้วย) ถ้าหากเลือกทำแบบดั้งเดิมต้องรอให้แผลหายดีก่อน แต่ถ้าเลือกแบบใส่ได้ทันที ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากก่อนไว้ก่อน และจัดเตรียมฟันปลอมที่มีลักษณะเหมือนฟันเดิมได้ทันที และทำการนัดถอนฟันคนไข้ภายหลัง เพื่อใส่ฟันปลอมให้
4. สวมใส่ฟันปลอมพร้อมปรับแก้ไปด้วย
ทันตแพทย์ใส่ฟันปลอมเเละแก้ไขตำแหน่งกดเจ็บในระหว่างการทำฟันปลอม ทันตแพทย์จะนัดพบคนไข้ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียด (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับรูปแบบของฟันปลอมด้วย)
ข้อดีของการทำฟันปลอม
- ป้องกันการเคลื่อนหรือล้มของฟันซี่ข้างเคียง
- ป้องกันฟันล้มหรือเอียง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟัน
- ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการเผยรอยยิ้มและการพูดคุย
- ช่วยในเรื่องของการออกเสียงบางเสียง หลังจากสูญเสียฟันในบางตำแหน่งไป
- ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร
- ช่วยในการรักษารูปลักษณ์และความอูมนูนของใบหน้า
วิธีดูแลฟันปลอม
ไม่ว่าจะเป็นการทำฟันปลอมแบบถอดได้หรือติดแน่น ก็ควรปฏิบัติตนหลังจากทำฟันมาแล้ว ดังนี้
การดูแลฟันปลอมแบบติดแน่น
- แนะนำให้เริ่มจากการรับประทานอาหารอ่อน เพื่อให้คุ้นชินกับการใส่ฟันปลอมก่อนสักพัก
- ควรรักษาความสะอาดร่วมกับการทำความสะอาดช่องปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปากตามปกติด้วยวิธีการแปรงฟันที่ถูกต้องร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
- ให้ทำความสะอาดใต้ฟันปลอมด้วยเครื่องมือร้อยไหมขัดฟัน (Floss Threader) ร่วมกับไหมขัดฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำถึงวิธีการให้คุณสามารถดูแลทำความสะอาดฟันและช่องปากได้ด้วยตนเอง
- ควรเข้าพบทันตแพทย์ตามนัด เพื่อทำการตรวจเช็กสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
การดูแลฟันปลอมแบบถอดได้
- ฟันปลอมชนิดถอดได้ควรรักษาความสะอาดด้วยการถอดฟันปลอมออกมาแปรงทุกครั้งหลังอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดช่องปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปากด้วยการแปรงฟัน
- แนะนำให้เก็บฟันปลอมไว้ในแก้วที่ใส่น้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันฟันปลอมบิดงอ
- ทำความสะอาดฟันตามธรรมชาติที่เหลืออยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องถอดเอาฟันปลอมออกก่อน
- ไม่ควรใส่ฟันปลอมแบบถอดได้นอน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบุภายในช่องปากได้
- ไม่ควรทิ้งฟันปลอมไว้ให้แห้ง ใกล้ความร้อน หรือหล่นกระแทก เพราะจะทำให้ฟันเทียมผิดรูป ไม่สามารถใส่เข้าที่ได้
- พบทันตแพทย์ถ้าฟันปลอมหัก บิ่น แตก หรือหลวม ห้ามปรับฟันปลอมด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
- ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีความเหนียวเเข็ง เพราะทำให้ฟันปลอมทำงานหนัก เเละอาจหลุดออกมาในขณะที่เคี้ยวได้
ฟันปลอม ราคา
ราคาฟันปลอมประเภทต่างๆ ทั้งฟันปลอมถอดได้ และฟันปลอมติดแน่นมีราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เลือกใช้ จำนวนซี่ และความต้องการของคนไข้ ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงความเหมาะสมของฟันปลอมแต่ละชนิดร่วมกับคนไข้เอง
ราคาฟันปลอมแบบติดแน่น
ราคาฟันปลอมแบบติดแน่นจะมีราคาค่อนข้างสูง อาจจะราคาสูงขึ้นหรือถูกลง ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เลือกใช้
รายการ | ราคา |
Composite Veneer | เริ่มต้นที่ ซี่ละ 3,000 บาท |
Ceramic Veneer | เริ่มต้นที่ ซี่ละ 12,000 บาท |
ครอบฟันโลหะ | เริ่มต้นที่ ซี่ละ 9,000 บาท |
ครอบฟัน All Ceramic | เริ่มต้นที่ ซี่ละ 14,000 บาท |
รากฟันเทียม | เริ่มต้นที่ ซี่ละ 29,000 บาท |
ราคาฟันปลอมแบบถอดได้
โดยราคาของฟันปลอมแบบถอดได้ที่เป็นโลหะจะแพงกว่าแบบพลาสติก เพราะมีน้ำหนักเบา แข็งแรงและคลุมฟันได้มากกว่า
รายการ | ราคา |
ฟันปลอมบางส่วนแบบถอดได้ | เริ่มต้นที่ 1,700 บาท |
ฟันปลอมทั้งปากแบบถอดได้ | เริ่มต้นที่ 10,000 บาท |
ฟันปลอม ทำที่ไหนดี
แม้จะหาข้อมูลหรือรีวิวอ่านมากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นการเลือกคลินิกที่น่าเชื่อถือ มีประสบการณ์และรีวิวที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทันตกรรม และเป็นคลินิกที่พร้อมให้คำปรึกษาทั้งก่อนทำและหลังทำ และที่สำคัญควรเป็นคลินิกทันตกรรมที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้คุณสะดวกในการเดินทางไปพบทันตแพทย์ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งถ้าคุณสนใจอยากทำฟันปลอมที่สะดวกสบายต่อการสวมใส่จากฝีมือแพทย์ที่มีประสบการณ์ สามารถปรึกษากับเรา ‘คลินิกทันตกรรมสีวลี’ เพราะเราพร้อมให้คำแนะนำแบบเคสต่อเคสด้วยความพิถีพิถัน และใส่ใจ เพื่อให้คุณได้รับฟันปลอมที่สมบูรณ์และเหมาะสมที่สุดในการใช้งานในชีวิตประจำวัน
คำถามที่พบบ่อย
ใส่ฟันปลอมแล้วเจ็บไหม
หากคุณเลือกใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ ในช่วงแรกของการใช้งานอาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองบ้าง แต่พอเริ่มคุ้นชินอาการก็จะดีขึ้น ส่วนถ้าหากคุณเลือกใช้ฟันปลอมแบบติดแน่น คุณจะไม่ได้รู้สึกเจ็บ แต่อาจจะรู้สึกเสียวฟันบ้างในช่วงแรก แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายไปได้เองในที่สุด
ทำฟันปลอมกี่วันได้
สำหรับการทำฟันปลอมแบบถอดได้แบบดั้งเดิมหากนับระยะเวลาตั้งแต่ทำหัตถการ เช่น การถอนฟันไปจนถึงช่วงที่คนไข้จะได้รับฟันปลอม จะใช้เวลาทั้งหมด 8 – 12 สัปดาห์ โดยในช่วงที่รอให้แผลจากการถอนสมานตัวคนไข้จะยังไม่มีฟันไว้สำหรับใช้งาน แต่ถ้าหากเป็นการทำฟันปลอมทั้งปากแบบทันทีจะสามารถสวมใส่ได้ในทันทีหลังจากที่ฟันทั้งหมดถูกถอนออก โดยทันตแพทย์จะจะทำการวัดและสร้างแบบจำลองของขากรรไกรเอาไว้ก่อน
ฟันปลอมอยู่ได้นานกี่ปี
อายุของฟันปลอมจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการทำฟันปลอมและการดูแลรักษา โดยฟันปลอมแบบโครงโลหะหากดูแลรักษาดีๆ จะมีอายุการใช้งานถึง 15 ปี, ฟันปลอมแบบอะคริลิกหรือพลาสติกจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 6 เดือนถึง 1 ปีจึงเหมาะจะเป็นฟันปลอมที่ใช้แบบชั่วคราว และฟันปลอมที่ออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่นโดยใช้วัสดุจำพวกเทอร์โมพลาสติกเรซิ่น (Thermoplastic Resin) หรือเทอร์โมพลาสติกไนลอน (Thermoplastic Nylon) จะมีอายุการใช้งานประมาณ 5-8 ปี
ใส่ฟันปลอม แล้วหลวมทำอย่างไร
การใส่ฟันปลอมแบบถอดได้อาจจะเจอกับการใส่ฟันปลอมแล้วหลวม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เรามาดูกันทีละสาเหตุพร้อมหาวิธีแก้ไปพร้อมๆ กันเลย ดังต่อไปนี้
- ตะขอหลวม วิธีแก้คือปรับตะขอให้พอดีกับฟันธรรมชาติหรือฟันหลักที่ยึดอยู่
- เกิดจากฟันปลอมไม่พอดีกับเหงือกจากการใช้มานาน วิธีแก้ไขถ้าหลวมมากๆ อาจจะต้องเสริมฐานฟันปลอมหรือทำฟันปลอมใหม่ แต่ถ้าหลวมไม่มากอาจจะใช้วิธีทากาวได้
- เกิดจากถอนฟันไปนานแล้วกระดูกสันเหงือกยุบตัวลงไปเยอะมากทำให้ฟันปลอมหลุดง่าย วิธีแก้ไขคืออาจจะใช้กาวติดฟันปลอมหรือใส่รากเทียมรองรับฟันปลอมก็จะทำให้ยึดแน่นมากขึ้น
ใส่ฟันปลอมแล้วพูดไม่ชัดเกิดจากอะไร
ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ชิน เช่นเดียวกันกับการดัดฟัน คุณจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวสักเล็กน้อย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววัยรุ่นหรือเด็กจะใช้เวลาประตัวประมาณ 2-3 วัน ส่วนในวัยผู้สูงอายุอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 1 เดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและการฝึกฝนของแต่ละบุคคล
ฟันปลอมต้องใส่ตลอดไปเลยไหม
หากคุณทำฟันปลอมแบบถอดได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาเข้านอนควรถอดทำความสะอาดและแช่น้ำไว้ ทั้งนี้ ก็เพื่อลดแรงกดทับของฐานฟันปลอมต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงลดโอกาสการเกิดการระคายเคืองที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก การอักเสบ หรือเกิดก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงขึ้นที่บริเวณขอบหรือใต้ฐานฟันปลอมได้
ใส่ฟันปลอมแล้วต้องมาหาทันตแพทย์ตลอดไปไหม
หลังจากใส่ฟันปลอมควรมาพบทันตแพทย์ตรวจช่องปากและฟันปลอมทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจเช็กสุขภาพในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคเหงือกอักเสบ ฟันผุที่คนใส่ฟันปลอมมักเป็นอยู่บ่อยครั้ง
ฟันปลอมกดทับเหงือก เป็นอย่างไร
เมื่อฟันปลอมกดทับเหงือกจะก่อให้เกิดแผลกดจากฟันปลอม (Denture Sores) โดยจะเป็นบริเวณขอบๆ ฟันปลอมที่ไม่แนบสนิทกับเหงือก และจะรู้สึกอักเสบบวมแดง มีอาการเจ็บปวด หรือแสบบริเวณแผล ในรายที่ใส่ฟันปลอมตลอดเวลาไม่ได้ถอดแช่น้ำในเวลากลางคืน ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อราที่ใต้ฐานฟันปลอมได้ โดยบริเวณเพดานหรือเหงือกข้างใต้จะมีฝ้าขาวเป็นปุยร่วมกับการอักเสบ และปวดแสบปวดร้อนด้วย
สรุป
เมื่อสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไปแล้ว ฟันปลอม ก็ถือเป็นเครื่องมือทดแทนที่ช่วยให้ใครหลายคนสามารถรับประทานอาหารได้อร่อย หรือออกเสียงได้ชัดตามปกติ ดังนั้น จึงควรดูแลฟันปลอมให้เหมือนกันกับการดูแลฟันแท้ ทั้งการทำความสะอาด การดูแลรักษา ตลอดจนถึงการเข้าพบกับทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพของช่องปากและฟันปลอมเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้ฟันปลอมสามารถอยู่กับคุณไปได้อีกนานเท่านาน
หากสนใจปรึกษาเรื่องการทำฟันปลอมสามารถสอบถามคลินิกทันตกรรมสีวลี ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมได้ที่ Line และ Facebook