เด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องความคิดความอ่าน แต่ร่างกายเองก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ฟันเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่เด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างมาก ฟันน้ำนมในเด็กนั้นซี่เล็ก อีกทั้งโครงสร้างภายในยังแตกต่างกับฟันแท้ ทำให้จำเป็นต้องมี “ทันตกรรมเด็ก” โดยเฉพาะขึ้นมา
ทันตกรรมเด็กมีอะไรบ้าง แตกต่างจากทันตกรรมของผู้ใหญ่อย่างไร หมอฟันใจดี มือเบาหาได้ที่ไหน ทำฟันเด็กที่ไหนดี ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับทันตกรรมเด็กกันค่ะ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
ทันตกรรมเด็ก (Pedodontics)
ทันตกรรมเด็ก (Pedodontics) คือการรักษาสุขภาพช่องปากในเด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้นมา ในช่วงอายุประมาณ 6 – 8 เดือน ไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนกลางอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันแท้ขึ้นมาแทนฟันน้ำนมทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นฟันกรามซี่ในสุด 4 ซี่ ที่จะขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 18 ปี)
โดยทันตกรรมเด็ก จะเน้นไปที่การดูแลฟันน้ำนมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนม การทำทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันน้ำนมผุ และรักษาฟันผุ
ทันตกรรมเด็กในแต่ละช่วงวัย
ในทางทันตกรรม จะแบ่งเด็กๆออกเป็น 3 ช่วงวัยตามพัฒนาการของฟัน ดังนี้
1. ทำฟันเด็กเล็ก
เด็กเล็ก หมายถึง เด็กในช่วงอายุประมาณ 6 เดือน – 2 ปี เป็นช่วงที่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นและขึ้นจนครอบ เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก ทันตกรรมในช่วงนี้จึงจะเน้นเรื่องการแนะนำในการดูแลฟันน้ำนมให้กับคุณพ่อคุณแม่
ส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำในเรื่องการทำความสะอาดฟันน้ำนม พฤติกรรมการกินนมหรือใช้ขวดนมที่ดีต่อฟันน้ำนม การเลิกนมมือดึก การเลิกขวดนม การเลือกอาหารว่างที่เหมาะสมกับฟันของเด็ก
2. ทำฟันเด็กวัยอนุบาล
เด็กวัยอนุบาล เป็นเด็กในช่วงอายุประมาณ 3 – 6 ปี เป็นช่วงของการดูแลฟันน้ำนมเมื่อขึ้นครบแล้ว เด็กในวัยนี้เริ่มดูแลรักษาฟันด้วยตัวเองได้แล้ว และเป็นวัยที่เริ่มพบฟันผุจนมีอาการปวดฟันได้เช่นกัน
การทำฟันเด็กในวัยนี้จะเน้นที่การแนะนำให้เด็กรู้จักกับเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ดูแลรักษาฟัน และวิธีการดูแลช่องปากที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำทันตกรรมให้เด็ก
โดยสิ่งที่แนะนำจะมีตั้งแต่การแปรงฟัน ขัดฟัน ตรวจฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ไปจนถึงทันตกรรมเด็กอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กๆ เริ่มคุ้นเคย และในการทำฟันแต่ละครั้ง ทันตแพทย์จะไม่ทำฟันนาน แต่จะนัดพบหลายครั้งแทน เพื่อไม่ให้เด็กวัยนี้เครียดจนเกินไป เมื่อเด็กคุ้นเคยมากขึ้นจึงจะเริ่มเพิ่มเวลา
3. ทำฟันเด็กโต
เด็กโต คือเด็กในช่วงอายุประมาณ 7 – 12 ปี เป็นช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนม และเป็นช่วงที่เด็กโตพอที่จะดูแลตัวเองได้อย่างดี และสามารถควบคุมตนเองได้ระหว่างการทำฟัน
ทันตกรรมเด็กที่จะทำในเด็กโต จะเน้นไปที่การแนะนำเกี่ยวกับการดูแลฟันแท้ อย่างข้อควรระวังเกี่ยวกับการดูแลฟันหน้า การป้องกันฟันแท้ผุโดยเฉพาะที่ฟันกรามแท้ เป็นต้น
ทันตกรรมเด็กแตกต่างกับทันตกรรมผู้ใหญ่อย่างไร
ทันตกรรมเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากฟันน้ำนมในเด็กกับฟันแท้ในผู้ใหญ่มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน การทำฟันเด็กจะเน้นดูแลและป้องกันฟันผุเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะของฟันน้ำนมนั้น ผุได้ง่ายกว่าฟันแท้ อีกทั้งตัวฟันก็ซี่เล็กกว่าฟันแท้ด้วย
นอกจากนี้ เด็กยังเป็นวัยที่ไม่สามารถแยกความเจ็บปวด ออกจากความกลัวหรือความเครียดได้ เมื่อมีอาการปวดฟันหรือรู้สึกกดดันเมื่อทำฟันก็จะไม่สามารถควบคุมตนเองได้
ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟันเด็กจึงต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องจิตวิทยาการสื่อสารกับเด็กๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกับทันตกรรมในผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก
ทันตกรรมเด็ก มีอะไรบ้าง
ทันตกรรมเด็กสามารถแบ่งออกได้คร่าวๆ เป็น 9 ประเภท โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกตามลักษณะงานทันตกรรมที่ทำ ได้แก่
- ตรวจสุขภาพฟันเด็ก
- การเคลือบฟลูออไรด์
- อุดฟันน้ำนมเด็ก
- ถอนฟันน้ำนม
- ขูดหินปูนสำหรับเด็ก
- การเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับเด็ก
- รักษารากฟันน้ำนม
- ครอบฟันน้ำนม
- การใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
1. ตรวจสุขภาพฟันเด็ก
ตรวจฟันเด็ก ตรวจอะไรบ้าง
ตรวจฟันเด็ก เป็นการตรวจเนื้อเยื่อทุกอย่างในช่องปากเหมือนกับผู้ใหญ่ มีการตรวจตั้งแต่ฟัน เหงือก ไปจนถึงลิ้นและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่มีผลกับสุขภาพช่องปากในเบื้องต้น
ตรวจฟันเด็กได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่
ตรวจฟันเด็กเริ่มตรวจได้ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นเลย ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่เด็กอายุประมาณ 6 เดือน แพทย์จะตรวจสุขภาพช่องปาก รวมทั้งให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง ว่าควรดูแลฟันน้ำนมของเด็กๆตั้งแต่เริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง
การตรวจฟันเด็ก ควรทำทุกๆ 6 เดือน โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้นัดเวลา ถ้าหากเด็กมีความเสี่ยงที่จะฟันผุหรือเป็นโรคเหงือกได้มาก ทันตแพทย์อาจจะนัดให้มาพบทุกๆ 3 เดือน เพื่อติดตามดูอาการต่อไป
2. การเคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์ เป็นทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันผุ โดยจะนิยมทำกันในการทำฟันเด็ก เนื่องจากฟันน้ำนมสามารถผุได้ง่ายกว่าฟันแท้
เคลือบฟลูออไรด์เริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนเมื่อมีฟันซี่แรกงอกขึ้นมา แต่ในช่วงวัยนี้เด็กมีโอกาสที่จะลืนฟลูออไรด์ได้ ดังนั้นอายุที่ทันตแพทย์แนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์คืออายุ 3 ปีขึ้นไป แม้จะเลยวัยเด็กไปแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน ถ้ามีความเสี่ยงที่ฟันจะผุมาก หรือทันตแพทย์แนะนำให้ทำ
เคลือบฟลูออไรด์มีกี่ประเภท
การเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กโดยทันตแพทย์ มีทั้งหมด 2 ประเภท
- ฟลูออไรด์แวนิช (Fluoride Varnish) คือฟลูออไรด์สำหรับป้ายฟัน เมื่อป้ายฟันที่แห้งอยู่ เนื้อฟลูออไรด์แวนิชจะติดกับฟัน โดยไม่ต้องใช้ถาดฟลูออไรด์ การเคลือบฟลูออไรด์ชนิดนี้จึงเหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ
- ฟลูออไรด์เจล (Fluoride Gel) คือฟลูออไรด์ที่จะใช้กับถาดฟลูออไรด์ (Fluoride Tray) เพื่อให้เคลือบผิวฟันอย่างทั่วถึง วิธีนี้ใช้ทั้งในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป และในผู้ใหญ่
ประโยชน์ของการเคลือบฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นแร่ธาตุหนึ่งที่มีการศึกษามาอย่างยาวนาน และมีงานวิจัยรับรองทางการแพทย์ว่า สามารถป้องกันฟันผุได้ ดังนั้นทันตแพทย์จึงนำฟลูออไรด์มาใช้เคลือบผิวฟันเพื่อป้องกันฟันผุ ลดอาการเสียวฟัน และสามารถซ่อมแซมฟันผุในระยะแรกได้ด้วย
ในทันตกรรมเด็กที่ต้องดูแลฟันน้ำนมซึ่งมีความเสี่ยงฟันผุได้มาก จึงนิยมเคลือบฟลูออไรด์กันมากเพื่อลดความเสี่ยงฟันผุลง เพราะหากฟันผุในเด็กเล็กจนมีอาการปวด จะทำให้เด็กมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการหาหมอฟัน และเมื่อเด็กๆขัดขืนก็จะรักษาได้ยากขึ้นด้วย
ขั้นตอนการเคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์จะเริ่มจากการขัดฟัน นำเศษอาหารและคราบที่ฟันออกให้หมด แล้วจึงเคลือบฟลูออไรด์
- หากเป็นฟลูออไรด์แวนิช แพทย์จะเป่าฟันหรือเช็ดฟันให้แห้ง แล้วจึงป้ายฟลูออไรด์แวนิชลงไป เพราะถ้าฟันไม่แห้ง ฟลูออไรด์จะไม่ติดฟัน
- ส่วนตัวฟลูออไรด์เจลนั้น ทันตแพทย์จะนำฟลูออไรด์ใส่ถาดที่วัดแล้วว่าพอดีกับขนาดฟันและครอบคลุมถึงฟันกรามซี่ในสุด ให้เด็กกัดไว้ประมาณ 4 นาทีเพื่อให้ฟลูออไรด์เคลือบทั้งฟัน ระหว่างรอก็จะคอยดูดน้ำลายและฟลูออไรด์ส่วนเกินออก เพื่อไม่ให้เด็กกลืนลงไป
การดูแลหลังการเคลือบฟลูออไรด์
หลังจากเคลือบฟลูออไรด์แล้ว แพทย์จะให้งดบ้วนปาก ดื่มน้ำ หรือทานอาหารเป็นเวลาประมาณ 30 นาที เพื่อทิ้งให้ฟลูออไรด์ได้ทำงานก่อนที่จะโดนล้างออกไป หากเคลือบฟลูออไรด์แวนิช แพทย์จะให้งดของแข็ง 1 – 2 ชั่วโมงหลังทำ และงดแปรงฟันในวันที่เคลือบฟลูออไรด์ด้วย
3. อุดฟันน้ำนมเด็ก
แม้ฟันน้ำนมจะเป็นชุดฟันชั่วคราวที่จะหลุดออกไปเมื่อโตขึ้น แต่การผุในฟันน้ำนมก็สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็กๆได้ จึงต้องมีทันตกรรมรักษาฟันผุอย่างการอุดฟันในเด็กด้วย
การอุดฟันของทันตกรรมเด็กจะแตกต่างกับทันตกรรมของผู้ใหญ่ที่การสื่อสารกับเด็ก เนื่องจากระหว่างการอุดฟัน ในขั้นตอนการกรอฟันผุออก อาจจะทำให้เสียวฟันได้ เด็กที่ไม่เคยรู้จักอาการเสียวฟันอาจจะรู้สึกกลัวจนไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา
ในขั้นตอนการอุดฟัน ทันตแพทย์เด็กจึงต้องใช้จิตวิทยาในการสื่อสารกับเด็กๆ ค่อนข้างมาก และต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ช่วย เพื่อให้เด็กไม่เจ็บและเสียวฟันน้อยลง
การอุดฟันน้ำนมมีกี่ประเภท
การอุดฟันน้ำนมมี 3 ประเภท แบ่งออกตามวัสดุอุดที่ใช้อุดฟัน ได้แก่
- อุดฟันอมัลกัม (Amalgam) เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะอมัลกัม ข้อดีคือเป็นวัสดุที่คงทน แข็งแรง เหมาะกับการอุดฟันกราม แต่ข้อเสียก็คือมีสีเงินเหมือนโลหะ โดดออกมาจากสีขาวของฟัน เมื่ออุดฟันอมัลกัมจึงดูไม่สวยงามนัก
- อุดฟันเรซินคอมโพสิต (Composite Resin) เป็นการอุดฟันด้วยเรซินสีเดียวกับเนื้อฟัน ทำให้ฟันที่อุดดูสวย เหมาะกับการอุดฟันที่ฟันหน้า แต่ก็มีข้อเสียที่วัสดุอุดแบบนี้ไม่แข็งแรงมากนักเมื่อเทียบกับอมัลกัม
- อุดฟันกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Lonomer) เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ที่สีเหมือนฟัน อีกทั้งตัววัสดุยังสามารถปล่อยฟลูออไรด์ออกมาได้ เหมาะมากกับตำแหน่งที่ฟันผุมาก และมีแนวโน้มที่ฟันจะผุเพิ่ม แต่มีข้อเสียที่สีไม่เหมือนฟันเท่าเรซิน และยังแข็งแรงน้อยที่สุดในวัสดุอุดทั้งหมดด้วย
ขั้นตอนการอุดฟันน้ำนม
- ทันตแพทย์เด็กหรือหมอฟันเด็กจะตรวจเช็คว่ามีฟันผุกี่ซี่ อาการผุร้ายแรงหรือไม่ ต้องรักษาด้วยการอุดฟันธรรมดา หรือฟันผุถึงเส้นประสาทจนต้องรักษารากฟัน
- จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บ หรืออาการเสียวฟัน
- กรอฟันในส่วนที่ผุออก
- อุดฟันด้วยวัสดุอุดที่ทันตแพทย์เลือกไว้ตามความเหมาะสม ซึ่งวัสดุอุดบางชนิดต้องมีการฉายแสงเมื่ออุดด้วย
- ตกแต่งวัสดุอุดให้สวยงาม และเหมาะกับฟันคู่สบ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ฟันได้ตามปกติ
การดูแลหลังการอุดฟันน้ำนม
ในการอุดฟันเด็ก ข้อควรระวังคือต้องระวังไม่ให้เด็กเคี้ยวของแข็งหลังจากนั้น เพราะวัสดุอุดสามารถแตกหักได้ โดยเฉพาะวัสดุสีเหมือนฟันอย่างเรซินคอมโพสิต หรือกลาสไอโอโนเมอร์ ส่วนวัสดุอมัลกัม หลังอุดฟันแล้วห้ามใช้ซี่ที่อุดเคี้ยวอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงจะสามารถใช้งานได้ตามปกติ
บทความอ่านเพิ่มเติม : การอุดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ใครควรอุดฟันบ้าง เจ็บไหม ราคาเท่าไหร่
4. ถอนฟันน้ำนม
สาเหตุที่ต้องถอนฟันน้ำนม
โดยปกติแล้วฟันน้ำนมจะเริ่มคลอนและหลุดออกเมื่อฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ แต่ก็มีสาเหตุที่ต้องถอนออกก่อนที่ฟันจะคลอนเช่นกัน
- ฟันน้ำนมผุจนไม่สามารถรักษาได้ หรือฟันผุมากในช่วงที่ฟันแท้กำลังจะขึ้น หมอฟันเด็กจะพิจารณาให้ถอนฟันน้ำนมออกไปเลย
- ฟันแท้เริ่มขึ้น แต่ฟันน้ำนมยังไม่หลุดไป ในฟันบางตำแหน่งหากปล่อยให้ฟันแท้กับฟันน้ำนมขึ้นซ้อนกันอาจจะเป็นปัญหาในภายหลังได้ หมอฟันเด็กจึงแนะนำให้ถอนฟันน้ำนมออกไปก่อน เพื่อเว้นที่ให้ฟันแท้ขึ้นเต็มที่
- ในกรณีที่ฟันน้ำนมเกินมาจนไปเบียดกับซี่อื่น หมอฟันเด็กจะแนะนำให้ถอนออกไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากถ้าปล่อยไว้ ฟันที่เหลือจะเคลื่อนผิดตำแหน่ง หากฟันแท้ขึ้นมาก็จะทำให้ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่งด้วย
ขั้นตอนการถอนฟันน้ำนม
- ทันตแพทย์ตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษา ว่าควรถอนฟันเลยหรือไม่ ต้องใส่อุปกรณ์กันฟันล้มเลยหรือเปล่า รวมทั้งวางแผนวิธีเข้าหาเด็กว่าต้องรักษาอย่างไรเด็กจึงจะให้ความร่วมมือขณะถอนฟัน
- ก่อนถอนฟัน ทันตแพทย์จะใช้ยาชาในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กรู้สึกเจ็บให้น้อยที่สุด ก่อนเริ่มขั้นตอนการถอนฟัน ทันตแพทย์ต้องแน่ใจจริงๆว่ายาชาออกฤทธิ์แล้ว เพราะเด็กบางคนอาจจะร้องไห้ขณะรักษา ไม่ได้ร้องไห้จากความเจ็บปวด แต่อาจจะร้องได้จากความกลัวหรือความกดดัน
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์แล้ว ทันตแพทย์จะถอนฟัน ถ้าฟันแน่นมากก็จะต้องเปิดเหงือกก่อนการถอนฟันด้วย
- ห้ามเลือดหลังการถอนฟันด้วยการกัดผ้าก๊อช หรือถ้าเลือดออกมากอาจจะต้องเย็บแผลด้วย
การดูแลหลังการถอนฟันเด็ก
หลังทำทันตกรรมเด็กถอนฟันน้ำนมแล้ว ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อชห้ามเลือดไว้ประมาณ 30 นาที คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูลูกว่าลูกยังกัดผ้าก๊อชอยู่หรือไม่ และต้องกระตุ้นให้กลืนน้ำลายบ่อยๆ เนื่องจากหากผ้าก๊อชไม่อยู่กับที่หรือชุ่มน้ำลายเกินไป จะทำให้เลือดหยุดไหลช้า
หลังจาก 30 นาทีหากเลือดไม่หยุดไหล ให้เปลี่ยนผ้าก๊อชอันไหม่ และกัดไปอีกเรื่อยๆจนกว่าจะหยุดไหล หลังจากเลือดหยุดแล้วผู้ปกครองต้องคอยดู และเตือนไม่ให้เด็กดูดแผลเล่น เพราะจะทำให้เลือดไหลได้อีก
ถ้าทันตแพทย์จ่ายยามา ก็ให้ผู้ปกครองให้ยากับเด็กตามที่ทันตแพทย์บอก หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง อาหารรสจัดในวันแรก หลีกเลี่ยงการแปรงฟันในบริเวณที่ถอนฟันในช่วง 1 – 2 วันแรก ป้วนปากบ่อยๆ ไม่ให้เศษอาหารลงไปในแผล หลังจากนั้นเด็กๆสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
5. ขูดหินปูนสำหรับเด็ก
ทันตกรรมเด็ก จำเป็นต้องมีการขูดหินปูนเหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะหินปูนเป็นต้นเหตุให้เกิดฟันผุและโรคเหงือกอักเสบได้
การขูดหินปูนไม่ได้มีกำหนดว่าควรเริ่มขูดเมื่อไหร่ หากพาเด็กๆ มาพบหมอฟันเด็กเป็นประจำทุก 6 เดือนอยู่แล้ว หมอฟันจะบอกให้ทำถ้าเริ่มมีหินปูนและมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก
ขั้นตอนการขูดหินปูนสำหรับเด็ก
ขั้นตอนการขูดหินปูนสำหรับเด็กไม่ได้ต่างกับการขูดหินปูนในผู้ใหญ่เลย โดยขั้นตอนการขูดหินปูนมี ดังนี้
- ตรวจฟัน ซักประวัติ วางแผนการรักษา และการเข้าหาเด็ก เพื่อให้เด็กให้ความร่วมมือระหว่างการรักษามากที่สุด
- เริ่มการขูดหินปูนด้วยเครื่องอัลตราโซนิก ระหว่างใช้งาน เครื่องมือนี้จะมีน้ำหล่อที่ฟันเพื่อลดความร้อนอยู่เสมอ ทันตแพทย์จะใช้เครื่องดูดน้ำลายดูดน้ำส่วนนี้ออกไปด้วยเรื่อยๆ
- ใช้เครื่องมือปลายแหลมขุดหินปูนเพิ่มในจุดที่เครื่องอัลตราโซนิกเข้าไม่ถึง
- ขัดฟันด้วยไหมขัดฟัน ตามซอกฟันที่เครื่องมือขัดฟันเข้าไม่ถึง
- ทำความสะอาดตัวฟันด้วยผงขัดฟัน และหัวยางขัดฟัน
การดูแลหลังการขูดหินปูน
การดูแลฟันหลังขูดหินปูนไม่ได้มีข้อควรระวังเป็นพิเศษ หมอฟันเด็กจะแนะนำให้เด็กใช้ไหมขัดฟัน แปรงฟันอย่างถูกวิธี เพื่อให้หินปูนก่อตัวได้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้
6. การเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับเด็ก
ทันตกรรมเด็กเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นทันตกรรมเพื่อป้องกันฟันผุ โดยการที่แพทย์จะใช้วัสดุพอลิเมอร์ติดลงไปที่ร่องลึกด้านบนฟันกราม เพื่อป้องกันเศษอาหารลงไปติดจนเกิดฟันผุ และให้เด็กรักษาความสะอาดด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น มีความเสี่ยงที่ฟันจะผุน้อยลง
การเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับเด็ก สามารถทำได้ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ โดยจะนิยมทำในช่วงที่ฟันน้ำนมขึ้นจนหมด ช่วงที่ฟันกรามซี่แรกขึ้นมา และช่วงที่ฟันกรามแท้ขึ้นจนหมดแล้ว เพื่อป้องกันฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเอง
ขั้นตอนการเคลือบหลุมร่องฟัน
- ตรวจเช็คฟันกรามซี่ที่ต้องการเคลือบหลุมร่องฟัน หากฟันผุจะต้องกรอส่วนที่ผุออกไปก่อน แต่ถ้าเป็นฟันผุในระยะเริ่มต้น สามารถเคลือบหลุมร่องฟันทับลงไปได้เลย
- ทำความสะอาดฟันซี่ที่ต้องการทำให้สะอาด
- ใช้แผ่นยางกั้นน้ำลาย กั้นฟันซี่ที่ต้องการทำออกมา จากนั้นจึงใช้กรดความเข้มข้นต่ำกัดเคลือบฟันบางส่วนออก เพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์ติดกับฟันได้ดี
- ล้างกรดออกด้วยน้ำสะอาด
- จากนั้นทันตแพทย์จะกันฟันซี่ที่จะเคลือบหลุมร่องฟันออกมาอีกครั้ง แล้วเช็ดฟันหรือเป่าฟันให้แห้งที่สุด เพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์ติดกับฟันได้ดียิ่งขึ้น
- ใส่วัสดุพอลิเมอร์ลงไปที่ร่องฟัน ตกแต่งให้เข้ากับพื้นที่ฟัน และทำให้ร่องฟันที่เป็นร่องลึกนั้นตื้นขึ้น จากนั้นทันตแพทย์จะฉายแสงเพื่อให้วัสดุพอลิเมอร์แข็งตัวติดอยู่กับฟัน
- ตรวจดูการสบฟัน ว่าเข้ากับฟันคู่สบได้ไหม มีส่วนไหนตื้นเกินไปหรือเปล่า หากยังไม่เข้าที่ ทันตแพทย์จะกรอฟันเพิ่ม เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด
การดูแลหลังการเคลือบหลุมร่องฟัน
ไม่มีข้อควรระวังการใช้ฟันหลังการเคลือบหลุมร่องฟัน ตัวพอลิเมอร์ที่ใช้จะแข็งตัวตั้งแต่หลังทำฟันอยู่แล้ว ดังนั้นสามารถทานอาหาร ดื่มน้ำ และแปรงฟันได้ตามปกติเลย
7. รักษารากฟันน้ำนม
ทันตกรรมเด็กรักษารากฟันน้ำนมจำเป็นต้องทำในกรณีที่ไม่สามารถรักษาฟันผุด้วยการอุดฟันตามปกติได้ นอกจากนี้ การรักษารากฟันยังทำให้อาการปวดฟันจากฟันผุลึกถึงโพรงประสาทฟันหายไปอีกด้วย
ผู้ปกครองอาจมีคำถามว่า ทำไมจึงไม่ถอนฟันน้ำนมไปเลย เพราะหลังจากนั้นก็จะมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่อยู่ดี สาเหตุที่ต้องรักษารากฟันแทนที่จะถอนฟันน้ำนม เป็นเพราะในบางกรณี ฟันน้ำนมซี่ที่ผุอาจจะผุในช่วงที่ยังไม่ถึงเวลาที่หน่อฟันแท้จะขึ้นมา
หากถอนฟันออกไปเลยจะทำให้ฟันในตำแหน่งนั้นหายไปเป็นเวลานานจนเกิดปัญหาฟันล้ม ฟันห่าง ฟันซ้อนเกได้ ดังนั้นทางแก้คือต้องรักษาฟันซี่นั้นไว้เพื่อรอหน่อฟันแท้ขึ้นก่อน เมื่อฟันแท้ขึ้นแล้วจึงสามารถถอนออกได้
ขั้นตอนการรักษารากฟันน้ำนม
ขั้นตอนการรักษารากฟันน้ำนม เหมือนกับการรักษารากฟันในผู้ใหญ่ตามปกติ โดยขั้นตอนการรักษามีดังนี้
- ทันตแพทย์จะเริ่มด้วยการใช้ยาชาเพื่อให้เด็กเจ็บน้อยที่สุด
- หลังยาชาออกฤทธิ์ ใช้แผ่นยางกั้นฟันซี่ที่ผุออกมา แล้วจึงกรอฟันนำส่วนที่ผุออกให้ได้มากที่สุด
- ทันตแพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างทำความสะอาดในโพรงประสาทฟันและคลองรากฟัน เพื่อทำความสะอาดเชื้อโรค และเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกไปจนหมด ในขั้นตอนนี้อาจจะทำไม่เสร็จในครั้งเดียว ทันตแพทย์จะใช้วัสดุอุดปิดไว้ชั่วคราว และนัดมาอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อ ทำไปเรื่อยๆจนกว่าเชื้อโรคจะหมดไป
- หลังจากเชื้อหายไปหมดแล้ว แพทย์จะอุดปิดคลองรากฟันอย่างถาวรเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
- ซ่อมแซมฟันให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิมด้วยวัสดุอุด หรือการทำครอบฟัน
ในขั้นตอนการรักษา หมอฟันเด็กอาจจะไม่สามารถเริ่มการรักษาด้วยการพูดคุยกับเด็กก่อนได้ เนื่องจากหมอฟันต้องรักษาอาการปวดฟันให้หายไปก่อน การพูดคุยเพื่อให้เด็กมีทัศนคติที่ดีกับทันตกรรมเด็กอาจจะต้องเริ่มในช่วงการนัดติดตามผลในครั้งถัดไป
การดูแลหลังการรักษารากฟันน้ำนม
หลังการรักษารากฟันน้ำนม หากทันตแพทย์ยังรักษาไม่เสร็จ ยังอยู่ในช่วงที่นัดไปเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อ ระวังอย่าให้เด็กใช้ฟันซี่นั้นเคี้ยวอาหาร เนื่องจากวัสดุอุดชั่วคราวไม่ได้แข็งแรงเท่าฟันจริง มีโอกาสแตกหักได้ ให้เลี่ยงไปเคี้ยวทางอื่นก่อน หรือถ้าวัสดุอุดหลุดหรือแตก ให้รีบแจ้งทันตแพทย์ทันที
หลังการรักษาและบูรณะแล้ว เด็กๆจะกลับมามีฟันน้ำนมที่แข็งแรงตามเดิม สามารถใช้งานได้ตามปกติ และต้องหมั่นทำความสะอาดเหมือนเป็นฟันปกติซี่หนึ่ง เพื่อรักษาฟันน้ำนมไว้จนกว่าฟันแท้จะงอกขึ้นมา
8. ครอบฟันน้ำนม
ทันตกรรมเด็กครอบฟันน้ำนม จะทำก็ต่อเมื่อเด็กฟันผุมาก ถ้ารักษาแล้วไม่สามารถบูรณะด้วยวัสดุอุดตามปกติได้ จะต้องใส่ครอบฟันแทน โดยครอบฟันน้ำนมมีด้วยกัน 4 แบบ คือ
- ครอบฟันสีเงินจากโลหะสแตนเลส ครอบฟันแบบนี้จะแข็งแรงมาก แต่มีข้อเสียคือสีจะโดดออกจากฟันซี่อื่นๆ
- ครอบฟันสีเงินด้านใน สีขาวด้านนอก เป็นการครอบฟันด้วยโลหะสแตนเลส แต่ทันตแพทย์จะปิดทับด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟันด้านนอก ทำให้แข็งแรงทนทาน และสวยงาม แต่ก็มีข้อเสียคือจะยังเห็นเงาสะท้อนสีเงินอยู่ด้านหลังฟัน
- ครอบฟันจากวัสดุอุดสีเหมือนฟัน เป็นครอบฟันที่สวยงาม สีเหมือนฟันทั้งด้านหน้าและด้านใน แต่มีข้อเสียคือวัสดุอุดไม่ได้แข็งแรงมากนัก ครอบฟันจะแตกและเสียหายได้ง่าย
- ครอบฟันจากเซรามิกสีเหมือนฟัน ครอบฟันประเภทนี้ทั้งสีเหมือนฟัน สวยงาม และแข็งแรง แต่มีข้อเสียคือราคาสูงกว่าครอบฟันแบบอื่นๆ
เด็กแต่ละคนเหมาะกับครอบฟันแบบใด แพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ตามความเหมาะสมในการบูรณะซี่ฟัน
ขั้นตอนการครอบฟันน้ำนม
ขั้นตอนการทำครอบฟันน้ำนมจะเกิดขึ้นหลังการกรอฟันผุ หรือการรักษารากฟัน เมื่อทันตแพทย์พิจารณาว่าไม่สามารถบูรณะด้วยวัสดุอุดได้ ก็จะทำการครอบฟัน
ในขั้นตอนการครอบฟัน ทันตแพทย์จะกรอเนื้อฟันบางส่วนออกก่อนเพื่อเป็นฐานให้ครอบฟันใส่ลงไป เมื่อกรอฟันได้รูปร่างที่ต้องการแล้ว ทันตแพทย์จะใช้ซีเมนต์ทางทันตกรรมติด และใส่ครอบฟันลงไป เพื่อให้ครอบฟันยึดติดกับฐานอย่างแน่นหนา
การดูแลหลังการครอบฟันน้ำนม
หลังการทำครอบฟันน้ำนมผู้ปกครองและเด็กควรช่วยกันดูแลรักษาครอบฟันให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้ามีคราบจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียไปเกาะที่ครอบฟัน จะทำให้เหงือกอักเสบได้โดยไม่รู้ตัว
ส่วนการใช้งาน ครอบฟันก็สามารถใช้งานได้เหมือนกันปกติ แต่ในกรณีที่เลือกแบบครอบฟันที่ไม่แข็งแรงมากนัก ไม่ควรใช้กัดของแข็งมาก เพราะครอบฟันมีโอกาสแตกได้
9. การใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
การใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม เป็นทันตกรรมเด็กที่ใช้เมื่อเด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนที่ฟันแท้จะขึ้นมา โดยปกติเมื่อมีพื้นที่ระหว่างฟัน ฟันจะเคลื่อนที่เข้าหากัน หรือเอนเข้าหากันตามธรรมชาติ
หากฟันน้ำนมเคลื่อนที่เข้าหากัน ฟันแท้ที่จะต้องขึ้นในบริเวณนั้นจะถูกเบียดไม่ให้ขึ้นได้ตามปกติ การใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม จึงเป็นการเว้นที่ให้ฟันแท้ขึ้นมาในตำแหน่งเดิมได้อย่างปกตินั่นเอง
เครื่องมือป้องกันฟันล้ม มีอะไรบ้าง
เครื่องมือป้องกันฟันล้มนั้นมีทั้งที่ทำจากโลหะและเซรามิก โดยที่ประเภทของเครื่องมือถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เครื่องมือแบบถอดได้ เป็นเครื่องมือที่สามารถถอดออกมาเพื่อทำความสะอาดได้ ระยะเวลาที่ควรใส่ต่อวัน ทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ
- เครื่องมือแบบติดแน่น เป็นเครื่องมือที่จะติดอยู่กับฟัน เด็กและผู้ปกครองไม่สามารถถอดออกเองได้
ในเด็กแต่ละคน ควรใช้เครื่องมือป้องกันฟันล้มประเภทใดนั้น ทันตแพทย์จะเป็นผู้เลือกให้เอง
ข้อปฏิบัติขณะใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
- ไม่ควรเคี้ยวของเหนียวหรือของแข็ง เพราะอาจจะทำให้เครื่องมืองอหรือหลวม และอาหารอาจจะไปติดอยู่ที่เครื่องมือด้วย
- ไม่ควรกดหรือดัดเครื่องมือด้วยตัวเอง ถ้าระคายเคืองมากให้แจ้งกับทันตแพทย์
- ถ้าใส่เครื่องมือแบบติดแน่น สามารถแปรงฟันได้ตามปกติขณะใส่เครื่องมือ แต่ถ้าใส่เครื่องมือแบบถอดได้ ให้ถอดออกมาล้างทำความสะอาดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจเช็คเครื่องมือทุกๆ 3 – 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรพาเด็กๆมาพบทันตแพทย์ตามนัดเสมอ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันเด็ก
ทันตกรรมเด็กมักมีราคาถูกกว่าทันตกรรมสำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากฟันน้ำนมมีซี่เล็กกว่า การรักษาไม่ซับซ้อนเท่าทันตกรรมในผู้ใหญ่ โดยที่คลินิกทันตกรรมสีวลี มีค่าบริการทันตกรรมเด็กแต่ละประเภท ดังนี้
พาลูกไปหาหมอฟันที่ไหนดี
ทำฟันเด็กที่ไหนดี? คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่ต้องการพาเด็กๆ ไปทำทันตกรรมเด็ก ควรมีข้อพิจารณาในการเลือกคลินิกทำฟันเด็ก ดังนี้
เลือกสถานทันตกรรมเด็กที่รักษาโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง
หากกำลังตัดสินใจว่าควรพาลูกไปหาหมอฟันที่ไหนดี ข้อแรกที่ควรพิจารณาคือในคลินิกนั้นๆ รักษาทันตกรรมเด็กโดยทันตแพทย์เฉพาะทางหรือไม่
“ทันตแพทย์เด็ก” หรือที่ผู้ปกครองอาจเรียกว่า “หมอฟันเด็ก” เป็นทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับฟันน้ำนม และสุขภาพช่องปากในเด็กมากกว่าทันตแพทย์ที่รักษาปัญหาทันตกรรมในผู้ใหญ่
นอกจากนี้ทันตแพทย์เด็กยังเชี่ยวชาญในการเข้าหาเด็ก ทำให้เด็กให้ความร่วมมือได้ง่าย และทันตแพทย์เด็กยังสามารถสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำทันตกรรมให้เด็กๆได้อีกด้วย หมอฟันใจดี มือเบา ที่ผู้ปกครองตามหาให้เด็ก ต่างก็เป็นทันตแพทย์เด็กที่ผ่านการเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเด็กมาแล้ว
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองพาเด็กๆ ไปพบทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมเด็ก เด็กๆจะมีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น และในระยะยาวก็สามารถพาไปหาหมอฟันเด็กได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เลือกสถานทันตกรรมเด็กที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐานทางการแพทย์
ความปลอดภัยเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะหากทำทันตกรรมในคลินิกที่ไม่สะอาด เครื่องมือไม่ได้มาตรฐาน จะเป็นผลเสียกับเด็กๆ ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพช่องปากแต่อาจจะอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะกับเด็กๆที่ควบคุมยาก หากสถานทันตกรรมไม่ปลอดภัย ยิ่งเป็นอันตรายกับเด็กๆได้มาก
เลือกสถานทันตกรรมเด็กที่เดินทางสะดวก เป็นมิตรกับเด็ก
ถ้าการเดินทางไปสถานทันตกรรมเป็นเรื่องยาก เด็กๆอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ดีกับทันตกรรมเด็กได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกตรองควรเลือกสถานทันตกรรมที่เดินทางสะดวก มีที่จอดรถ และอยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้การเดินทางมาหาหมอฟันเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กๆ
หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองกำลังมองหาสถานทันตกรรมให้เด็กๆ ในบริเวณคลอง 2 รังสิต-ปทุมธานี สามารถเข้ามาพูดคุยกับทางคลินิกทันตกรรมสีวลี หรือนัดเข้ามาปรึกษากับทันตแพทย์ของเราได้
เราดูแลฟันของเด็กๆ โดยทันตแพทย์เด็กผู้เชี่ยวชาญถึง 6 ท่าน (สามารถดูประวัติทันตแพทย์ได้ที่ ทีมแพทย์) ในสถานทันตกรรมที่สะอาด ปลอดภัย และได้มาตรฐานทางทันตกรรม คลินิกอยู่ริมถนน ใกล้กับห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มีลานจอดรถเพื่อความสะดวกในการเดินทางอีกด้วย
ข้อสรุป ทันตกรรมสำหรับเด็ก
การพาเด็กๆ ไปพบกับหมอฟันเพื่อให้เด็กรักษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการทำทันตกรรมเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการไปหาหมอฟันเด็กแล้ว ยังเป็นการรักษาสุขภาพช่องปากให้เด็กๆ มีฟันน้ำนม รวมถึงฟันแท้ที่ดีในระยะยาวอีกด้วย
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำทันตกรรมเด็ก หรือต้องการเข้ามาสอบถามพูดคุยกับทันตแพทย์เด็กจากทางคลินิกทันตกรรมสีวลี สามารถติดต่อเราได้ที่ Line หรือ Facebook ของทางคลินิก ปรึกษาได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ