ตัดเหงือก คืออะไร ทำไมต้องตัด อันตรายหรือเปล่า เจ็บไหม ดูคำตอบที่นี่

ตัดเหงือก

เป็นคนยิ้มแล้วเห็นเหงือกเยอะทำให้ไม่มั่นใจ แก้ไขยังไงดี?

แน่นอนว่า มาพบทันตแพทย์ด้วยปัญหานี้ ก็มีวิธีการจัดการกับปัญหา เพื่อทำให้คุณสามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจมากขึ้นนั่นคือ ‘การตัดเหงือก’ ชื่อฟังดูอาจจะน่ากลัวสักเล็กน้อย แต่รับรองเลยว่า ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะนี่ถือเป็นหนึ่งในวิธีการศัลยกรรมตกแต่งเหงือกที่ได้รับความนิยมพอสมควร ว่าแต่ทำไมหลายคนถึงเลือกใช้วิธีการตัดเหงือก ทำแล้วจะอันตรายไหม ทำไมต้องตัด และจะช่วยทำให้เหงือกเยอะและเหงือกนูนขอบเหงือกไม่เท่ากันหายไปได้จริงไหม บทความนี้มีคำตอบจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้แล้ว

ตัดเหงือก คืออะไร

ตัดเหงือก (Gingivectomy) หรือ การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก คือ การผ่าตัดเหงือกหรือเปลี่ยนรูปร่างของเหงือก เพื่อยกระดับเหงือกและทำให้ฟันดูยาวขึ้น นอกจากนี้ ยังทำเพื่อรักษาสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาร่องเหงือกลึก ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการเกลารากฟันได้อีกด้วย

ซึ่งส่วนใหญ่การตัดเหงือกจะทำร่วมกันกับการครอบฟันหรือวีเนียร์, การรักษารากฟัน, การผ่าหรือถอนฟันคุด เพื่อให้เหงือกดูเรียบเนียนมากขึ้น

สาเหตุที่ต้องตัดแต่งเหงือก

สาเหตุที่ต้องตัดแต่งเหงือกส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำการรักษาร่วมกับการทำทันตกรรมอื่นๆ เช่น การตัดเหงือกภายหลังการจัดฟัน, การรักษารากฟัน, การทำครอบฟัน, แก้ไขปัญหาเหงือกเยอะ เหงือกบวม, การอุดฟัน, ระดับขอบเหงือกของฟันแต่ละซี่ไม่เท่ากัน, เหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป ผลให้การรับประทานอาหารไม่สะดวก และบางรายอาจจะพูดไม่ชัด, การทำปากกระจับ ทำปากบางซึ่งถ้าทำการตัดเหงือกเพิ่มก็จะช่วยทำให้ฟันดูยาว เวลายิ้มก็จะไม่เห็นเหงือกมากจนเกินไป

โดยทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันทำการรักษาด้วยการตัดเหงือก เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกเกิดความเสียหายมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ทันตแพทย์สามารถรักษาและทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

วิธีการตัดเหงือก มีอะไรบ้าง

สำหรับวิธีการตัดเหงือกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ตัดเหงือกด้วยใบมีด

เป็นการตัดขอบเหงือกออกด้วยวิธีการดั้งเดิม นั่นคือ การใช้มีด (blade) โดยทันตแพทย์จะทำการตัดเหงือกส่วนเกินออกตามร่องแนวฟัน แต่วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เลือดออกมากกว่าวิธีอื่น ต้องใช้เวลาในการพักฟื้น และถ้าทำความสะอาดไม่ดีพอก็อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

  • ตัดเหงือกด้วยระบบไฟฟ้า หรือ ตัดเหงือกด้วยเลเซอร์

ส่วนวิธีที่ได้รับความนิยมคือ การตัดเหงือกด้วยเลเซอร์หรือระบบไฟฟ้า เนื่องจากช่วยควบคุมการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ มีอาการเจ็บน้อยกว่า แผลน้อยกว่า เหงือกไม่ช้ำ แทบไม่ทิ้งรสชาติ หรือสัมผัสหลังการตัดเหงือก อีกทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนที่น้อยกว่าการใช้ใบมีดผ่าตัด และไม่ต้องใช้เวลาในการพักฟื้นอีกด้วย

การตัดเหงือก มีกี่ประเภท

ปกติแล้วการตัดเหงือกที่คนส่วนใหญ่นิยมทำจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. การตัดเหงือกธรรมดา

การตัดเหงือกธรรมดา (Gingivectomy) จะเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือตัดเหงือกส่วนเกินออก เพื่อปรับแนวเหงือกให้เรียบ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้มีปัญหามาก เพียงแต่มีเหงือกเยอะ และมีเหงือกงอกมาคลุมตัวฟันมากเกินไป เวลายิ้มจึงเห็นเหงือกมากกว่าคนทั่วไป ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจได้ แต่วิธีนี้อาจทำให้เหงือกที่ตัดกลับมาสู่ระดับขอบเหงือกเดิมก่อนที่ตัดได้ (relapse)

2. การตัดเหงือกกรอกระดูกฟัน

การตัดเหงือกกรอกระดูกฟัน (Aesthetic Crown Lengthening) คือ การตัดเหงือกร่วมกับการกรอแต่งขอบกระดูกใต้เหงือกออกบางส่วน จึงเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหากระดูกฟันนูนและมีเหงือกหนาจนลงมาคลุมฟันมาก โดยทันตแพทย์จะทำการผ่าตัดขอบเหงือกร่วมกับการกรอลดความสูงของขอบกระดูกฐานเหงือก ซึ่งจะให้ผลลัพธ์การรักษาแบบถาวร เหงือกจะไม่งอกกลับขึ้นมาอีก ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้แล้ว ยังช่วยป้องกันรากฟันผุ ที่อาจเป็นสาเหตุของการนำไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกและฟันอื่นๆ ได้อีกด้วย

ข้อดี – ข้อเสีย ของการตัดเหงือก

ข้อดีของการตัดเหงือก

  • ช่วยแก้ปัญหาขาดความมั่นใจไม่กล้ายิ้ม
  • ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือก เช่น เหงือกร่น เหงือกติดเชื้อ เหงือกอักเสบ ปัญหาร่องเหงือกลึก เหงือกบาดเจ็บ เป็นต้น
  • ทำให้ทันตแพทย์และคนไข้สามารถรักษาและทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น
  • ช่วยป้องกันฟันรากฟันผุ
  • ช่วยทำให้คนไข้ที่มีฟันผุ หรือฟันแตก สามารถรักษารากฟัน ครอบฟัน หรือบูรณะฟันซี่นั้นได้สมบูรณ์จากการตัดเหงือกเพิ่ม
  • ช่วยเพิ่มความยาวของซี่ฟัน
  • ช่วยทำให้การทำวีเนียร์ให้ดูมีมิติ และสวยงามมากขึ้น

ข้อเสียของการตัดเหงือก

หลังจากเข้ารับการตัดแต่งเหงือก หากคนไข้ไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี อาจทำให้เกิดโรคช่องปากต่างๆ เกิดขึ้นได้อีก เช่น คอฟันสึก เหงือกบวม เหงือกร่น ฟันผุ อาการติดเชื้อ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม : เหงือกร่น ทำยังไง? รักษาได้ไหม ดูคำตอบจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การเตรียมตัวก่อนการตัดเหงือก

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการตัดเหงือกมีดังต่อไปนี้

  1. ทำการตรวจสุขภาพภายในช่องปาก หากพบว่ามีปัญหา เช่น ฟันผุ หินปูน ให้ทำการเคลียร์ช่องปากให้เรียบร้อยเสียก่อน
  2. ทันตแพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อประเมินระดับกระดูก
  3. ทำการปรึกษาแพทย์เรื่องแผนการรักษา เช่น ต้องตัดเหงือกกี่ซี่ หรือต้องทำการกรอกระดูกฟันด้วยหรือไม่
  4. หากมีโรคประจำตัว แพ้ยา ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนการลงมือผ่าตัด

ขั้นตอนการตัดเหงือก

  1. ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
  2. ทันตแพทย์จะทำการใส่ยาชา จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บแต่จะรู้สึกได้ถึงแรงกดของเครื่องมือที่กระทำอยู่
  3. รอยาชาออกฤทธิ์ 20-40 นาที และกำหนดจุดที่เหงือกก่อนการผ่าตัด
  4. หากมีปัญหาเรื่องกระดูกฟันนูนก็จะต้องทำการกรอกระดูกฟันร่วมด้วย
  5. หลังการผ่าตัดจะมีไหมเย็บแผลและยาปิดแผลปิดอยู่บริเวณเหงือก
  6. ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีดูแลตัวเองให้อย่างละเอียด และจะมีการนำยาปิดแผลออกและตัดไหมหลังจากวันผ่าตัด 1-2 อาทิตย์หลังจากนี้

วิธีดูแลหลังตัดเหงือก

  • หากทันตแพทย์ทำการใช้ยาปิดแผลลักษณะคล้ายหมากฝรั่งให้งดแปรงฟันในบริเวณนี้ และจะให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบ้วนทำความสะอาดแทน โดยใช้วันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 1 นาที
  • หากเป็นแผลปกติให้ใช้ cotton bud ชุบน้ำ เช็ดทำความสะอาดบริเวณแผล
  • เมื่อมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาได้
  • ทันตแพทย์จะจ่ายยาฆ่าเชื้อให้ แนะนำให้รับประทานติดต่อกันจนกว่าจะหมด
  • งดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเหงือกและฟัน เคี้ยวของแข็ง กัดฟัน ต่อยมวย เป็นต้น

ตัดเหงือก กินอะไรได้บ้าง

  • เน้นรับประทานอาหารที่ไม่ออกแรงเคี้ยวเยอะ และไม่แข็งจนเกินไป เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
  • รับประทานอาหารที่เย็นได้ตามปกติ
  • ดื่มน้ำให้ครบวันละ 8 แก้ว
  • รับประทานผักหรือผลไม้ที่มีวิตามิน เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กี่วี สับปะรด
  • รับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและเนื้อสัตว์ที่ไม่เหนียวแทนไปก่อน ไข่ขาว ไก่ ธัญพืช เนื่องจากโปรตีนจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและทำให้แผลหายไวขึ้น

ตัดเหงือก ห้ามกินอะไรบ้าง

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดจ้านจนกว่าแผลจะหายดี
  • งดเคี้ยวน้ำแข็ง ถั่วหรืออาหารแข็ง อาหารกรุบกรอบที่ส่งผลต่อฟัน
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เคี้ยวยาก เช่น เนื้อติดมัน เนื้อติดเอ็น เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ผลไม้ดอง เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีสิ่งปนเปื้อนที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้

ตัดเหงือก ราคาเท่าไหร่

ราคาของการตัดแต่งเหงือก จะขึ้นอยู่กับแต่ละคลินิก ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งราคาออกเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบของวิธีการตัดเหงือก คือ ราคาการตัดเหงือกธรรมดา และราคาการตัดเหงือกแบบกรอกระดูกฟัน โดยราคาตัดเหงือกธรรมดาต่อซี่จะเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ส่วนถ้าทำการตัดเหงือกและกรอกระดูกฟัน 1 ซี่ ราคาจะเริ่มต้นที่ที่ 3,500 บาท

รายการ ราคา (ต่อซี่)
ตัดเหงือกธรรมดา เริ่มต้นที่ 1,000 บาท
ตัดเหงือกและกรอกระดูกฟัน เริ่มต้นที่ 3,500 บาท

ตัดเหงือก รีวิว

ตัดเหงือกแล้วจะได้ผลลัพธ์อย่างไร จะเห็นความแตกต่างหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจ…แนะนำให้ลองดูรีวิวรูปก่อน-หลังการตัดเหงือกจากคนไข้เคสก่อนหน้าของเรา เพื่อใช้ประกอบกับการตัดสินใจว่า ควรจะตัดเหงือกดีไหม? ได้เลย แต่รับรองว่า จะช่วยทำให้คุณมั่นใจและแก้ไขปัญหาเรื่องเหงือกและฟันให้กับคุณได้อย่างแน่นอน

ตัดเหงือกรีวิว

ตัดเหงือกที่ไหนดี

หาข้อมูลมาเพียงพอและพร้อมที่จะทำการตัดเหงือกแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปตัดเหงือกที่ไหนดี แนะนำให้ทำตาม Checklist ดังต่อไปนี้

1. เลือกคลินิกที่น่าเชื่อถือ

แม้จะหาข้อมูลหรือรีวิวอ่านมากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นการเลือกคลินิกที่น่าเชื่อถือ สามารถให้คำปรึกษาทั้งก่อนทำและหลังทำให้กับคุณได้ อีกทั้งบรรยากาศรอบๆ คลินิกก็ควรจะดูปลอดภัย เดินทางมาได้สะดวก ส่วนภายในก็ควรจะสะอาดและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้งานแล้วปลอดภัยปราศจากเชื้อโรค

2. เลือกทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

เพราะทันตแพทย์มีหลายสาขาวิชา ควรที่จะเลือกทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตัดเหงือก และมีเคสรีวิวจากคนไข้ก่อนหน้าที่ช่วยทำให้คุณมองเห็นแผนการรักษาของทันตแพทย์ท่านนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย

ทำความรู้จักกับทีมแพทย์คลินิกทันตกรรมสีวลี ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมได้ ที่นี่

3. ราคาสมเหตุสมผล

ควรตรวจสอบราคาว่า สมเหตุสมผลหรือไม่ มีการแจ้งรายละเอียดของราคาชัดเจน และยืนยันให้แน่ใจว่า จะไม่มีการเก็บส่วนต่างเพิ่มที่คุณไม่ทราบ

4. ติดตามผลหลังจากทำเสร็จแล้ว

ควรที่จะมีการแนะนำการดูแลตัวเอง และนัดติดตามผลหลังจากทำการผ่าเหงือกแล้ว เพื่อดูอาการและทำการตัดไหมต่อไป

คำถามที่พบบ่อย

จัดฟันอยู่ตัดเหงือกได้ไหม

เรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์และจุดประสงค์ในการตัดเหงือกว่าทำเพื่ออะไร หากทำเพื่อการรักษาควบคู่กันกับการจัดฟัน หรือทำให้การจัดฟันสะดวกมากขึ้นก็สามารถทำได้ เช่น ต้องการเพิ่มพื้นที่ในการติดอุปกรณ์จัดฟัน คนไข้มีฟันผุหรือฟันแตกใต้ขอบเหงือกในขณะรักษาการจัดฟัน คนไข้มีอาการเหงือกบวมหรือเหงือกอักเสบมาจากการทำความสะอาดฟันไม่ค่อยดี ฯลฯ ซึ่งการตัดเหงือกสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การเข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งเหงือกร่วมกับการจัดฟันก็อาจจะเป็นหนทางที่ดี

อ่านเพิ่มเติม : จัดฟันมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร ราคาเท่าไหร่ เลือกแบบไหนเหมาะกับคุณ 2021

ตัดแต่งเหงือกเจ็บไหม

หลายคนไม่กล้าที่จะตัดแต่งเหงือกเพราะกลัวเจ็บในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เจ็บอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะก่อนทำการตัดแต่งทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาให้ก่อน จึงจะไม่รู้สึกระหว่างการผ่าตัด ส่วนหลังจากทำการตัดเหงือกแล้ว ถ้ารู้สึกเจ็บก็สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือแปะแผ่นที่ติดแผลเพิ่มได้ หรือถ้าหากมีอาการบวมก็สามารถประคบเย็นได้ด้วย

ตัดเหงือกกี่วันหาย

การผ่าตัดเหงือกเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ภายหลังการรักษาในช่วง 3 – 5 วันแรก อาจจะมีอาการระบมเล็กน้อยหรือไม่สบายแผลบ้าง แต่ถ้าหากปฏิบัติตามคำแนะนำหลังการรักษาโดยทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถหายได้แล้ว

ข้อสรุป ‘การตัดแต่งเหงือก’

การตัดเหงือกเป็นวิธีการทำทันตกรรมที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหายิ้มไม่มั่นใจได้มีทางเลือกในการปรับรอยยิ้มให้สวยขึ้นช่วยให้สามารถบูรณะฟันได้ แถมยังเป็นศัลยกรรมเล็กที่มีความปลอดภัยสูงมาก โดยปกติจะทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ทำให้ระหว่างการรักษา คนไข้จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใดๆ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับการผ่าตัดศัลยกรรมเหงือกว่าจะเจ็บหรือแผลจะหายช้า บางทีการเป็นร้อนในอาจจะเจ็บกว่าเสียด้วยซ้ำ

และถ้าใครสนใจอยากละทำการตัดแต่งเหงือก แต่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกที่ไหนดี ที่คลินิกทันตกรรมสีวลีของเรา ยินดีให้คำปรึกษาและตอบคำถามที่คุณสงสัยเกี่ยวกับการศัลยกรรมตัดเหงือกโดยทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการบริการของเราได้โดยตรงเลยที่ Line และ Facebook (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย)