[ไขข้อสงสัย] จัดฟันเจ็บไหม? ต้องฉีดยาชาด้วยหรอ? ขั้นตอนดึงฟันเจ็บหรือเปล่า?

จัดฟันเจ็บไหม

“จัดฟันเจ็บไหม?” นี่คือคำถามยอดฮิตที่ทันตแพทย์มักจะเจออยู่บ่อยครั้งยามที่มีคนไข้มาปรึกษาเรื่องการจัดฟัน แน่นอนว่า การจัดฟันครั้งแรก มักทำให้รู้สึกกังวลใจไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องความเจ็บปวดที่หลายคนอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการทำทันตกรรมอื่นๆ มาก่อน เลยทำให้ตัดสินใจที่จะจัดฟันไม่ได้สักที

บทความนี้ทันตแพทย์ของคลินิกจึงจะมาตอบทุกข้อสงสัยที่ทำให้คนไข้รู้สึกกังวลใจเรื่องการจัดฟันว่า จัดฟันเจ็บไหม? ต้องฉีดยาชาหรือเปล่า? ตอนดึงฟันเจ็บแค่? หรือมีวิธีการบรรเทาอาการเจ็บได้อย่างไรบ้าง? ลองไปดูคำตอบพร้อมๆ กันได้เลย

จัดฟันเจ็บไหม

การจัดฟันเจ็บไหม

คนไข้ส่วนใหญ่มักจะรู้สึกกังวลใจว่า การจัดฟันเจ็บไหม? เพราะจากที่อ่านรีวิวมาบางคนก็บอกเจ็บ บางคนก็บอกว่าไม่เจ็บ สรุปแล้วยังไงกันแน่?

สำหรับเคสที่มาจัดฟันครั้งแรกจะมีอาการเจ็บอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับคนไข้แต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกตึงๆ มากกว่าอาการเจ็บ ส่วนคนไข้ที่รู้สึกเจ็บนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในบางขั้นตอนของการจัดฟัน เช่น การติดหรือปรับเครื่องมือใหม่ ทำให้หลอดเลือดถูกกดจากแรงดัดฟัน จึงทำให้รู้สึกเจ็บและอาจจะรู้สึกปวดบ้าง แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองในระยะเวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์

ซึ่งถ้าใครกังวลว่า จะเจ็บมาก ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ หรือถ้ารู้สึกกลัวการจัดฟัน แนะนำให้ลองศึกษาขั้นตอนการจัดฟันแต่ละขั้นตอนในบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการจัดฟันที่ถูกต้องและปลอดภัยไปพร้อมๆ กันก่อน ก็จะช่วยทำให้หายกลัวได้มากขึ้น

จัดฟันต้องฉีดยาชาไหม

สำหรับ การฉีดยาชา จะทำในบางขั้นตอน เช่น การผ่าฟันคุด การถอนฟัน ปักหมุดจัดฟัน ซึ่งยาชาจะช่วยทำให้การทำทันตกรรมเป็นไปได้โดยง่าย และไม่รู้สึกเจ็บ คนไข้อาจจะรู้สึกถึงตอนถอนฟันออกจากเบ้า หรือตอนปักหมุดอยู่ แต่จะไม่ได้รู้สึกเจ็บเพราะยาชาออกฤทธิ์ช่วยแล้ว

การเคลียร์ช่องปาก

‘การเคลียร์ช่องปาก’ นับเป็นด่านแรกที่คนจัดฟันจะต้องเจอ เพราะนี่ถือเป็นการตรวจสอบสุขภาพและจัดการกับปัญหาเหงือกและฟันที่คนไข้เป็นอยู่ให้เรียบร้อยก่อนจะทำการรักษาด้วยวิธีการจัดฟันต่อไป ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ขั้นตอน ดังนี้

จัดฟัน ฉีดยาชา เจ็บไหม

1. ขูดหินปูน

การขูดหินปูน (Dental Scaling) จะเป็นการขจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟันให้หลุดออกไป ซึ่งการขูดหินปูนจำเป็นต้องทำเพราะคราบแบคทีเรียสะสมเหล่านี้จะก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบ แถมยังก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ด้วย

ส่วนขั้นตอนของการขูดหินปูนนั้นอาจมีอาการเจ็บหรือเสียวฟันบ้างเล็กน้อย แต่อาการเหล่านี้จะสามารถหายเองได้ หรือถ้าใครมีอาการเลือดออกขณะขูดหินปูนก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ให้รักษาสุขภาพภายในช่องปากอย่างถูกวิธี สักพักก็จะหายดีเอง

2. อุดฟัน

หากคุณมีอาการฟันผุที่เห็นเป็นรูชัดเจน ฟันแตก ฟันบิ่น ซึ่งอยู่ในระยะที่มีการทำลายเฉพาะถึงส่วนเนื้อฟัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการอุดฟัน (Tooth Filling) เพื่อใช้ทดแทนเนื้อฟันที่เสียไปด้วยวัสดุอุดฟัน เติมเนื้อฟันให้กลับมามีรูปร่างฟันปกติเหมือนเดิม

สำหรับระดับความเจ็บของการอุดฟันนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการอุด โดยปกติแล้วจะรู้สึกเสียวฟันเมื่อต้องมีการกรอฟันเป็นปกติ แต่ถ้ายิ่งฟันผุลึกในตำแหน่งใกล้กับโพรงประสาทฟันมากก็ยิงมีโอกาสเจ็บมาก ซึ่งในเคสนี้ทันตแพทย์จะประเมินอาการคนไข้ เเละให้ยาชาป้องกันการเจ็บปวดหรือเสียวฟันไว้ก่อน แต่ถ้าหากฟันผุเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำการฉีดยาชาก่อนแต่อย่างใด

3. ผ่าฟันคุด

หากต้องการจัดฟันแล้วคนไข้มีฟันคุดอยู่ก็จำเป็นที่จะต้องทำการผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด (Tooth Impaction Removal) ออก เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดฟัน เช่น ป้องกันอาการเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ อาการปวด หรือฟันซี่ข้างเคียงเกิดอาการผุขึ้นมาภายหลังจากการจัดฟันได้ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้แล้วเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นจะทำให้แผนการจัดฟันล่าช้า และการรักษาหรือผ่าฟันคุดก็อาจจะทำได้ยากมากขึ้นด้วย

ส่วนการผ่าฟันคุดนั้นจำเป็นต้องใช้ยาชาในบริเวณที่จะทำการผ่าฟันคุด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ และจะใช้เวลาประมาณ 15-60 นาทีในการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟันและความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์ หลังจากผ่าเรียบร้อยแล้วก็อาจจะมีอาการปวดอยู่ประมาณ 2-3 วัน แต่จะดีขึ้นเรื่อยๆ และจะหายภายในระยะเวลาไม่เกิน 1-2 สัปดาห์

อ่านขั้นตอนการผ่าฟันคุดและวิธีการดูแลรักษาหลังการผ่าฟันคุดได้ที่ ผ่าฟันคุด & ถอนฟันคุด สาเหตุ อาการ การรักษา ราคาเท่าไหร่ โดย ทันตแพทย์เฉพาะทาง

ติดเครื่องมือจัดฟันครั้งแรก

อีกหนึ่งขั้นตอนที่หลายคนสงสัยว่า จะเกิดอาการเจ็บหรือไม่ นั่นก็คือ ขั้นตอนการติดเครื่องมือจัดฟันครั้งแรก ซึ่งอาการเจ็บ ปวด หรือรู้สึกเสียวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ เนื่องจากคนไข้ยังไม่ค่อยชินกับลวดหรือเครื่องมือจัดฟันที่ทำการติดเข้าไป แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นภายในสัปดาห์แรก ดังนั้น ไม่ต้องเป็นกังวลใจมากจนเกินไป

การปักหมุดจัดฟัน

นอกจากการติดเครื่องมือจัดฟันครั้งแรกแล้ว ในกรณีที่คนไข้บางคนอาจจะต้องมีการปักหมุดจัดฟันเพิ่ม เพื่อช่วยควบคุมการเคลื่อนที่ของฟันให้เป็นไปตามแผนการรักษา และช่วยปิดช่องว่างขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจทำให้คนไข้กังวลใจว่าจะเจ็บหรือไม่

คำตอบคือ ‘ไม่เจ็บเลย’ เนื่องจากทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาให้ก่อน หลังจากนั้น ทันตแพทย์จะค่อยๆ ใช้อุปกรณ์ขันเพื่อให้หมุดอยู่กับเหงือก โดยจะใส่หมุดจัดฟันลงไปจนถึงขากรรไกร เพื่อยึดและใช้เป็นหลักแทนฟันให้ร้อยยางไปหาฟันซี่อื่น ซึ่งจะใช้เวลาในการทำเพียง 5-10 นาทีเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนดึงฟันเจ็บไหม

ขั้นตอนต่อมาที่หลายคนกังวลใจว่าจะเจ็บหรือไม่ นั่นคือ ‘ขั้นตอนการดึงฟัน’ ซึ่งอาจทำให้คนไข้รู้สึกถึงความไม่สะดวกสบายในช่องปาก เนื่องมาจากความไม่ชินกับเครื่องมือจัดฟันที่ถูกดึงตึงขึ้น และอาจจะรู้สึกตึงๆ อยู่บ้าง จากการเกี่ยวยางดึงฟัน (Elastic Rubber Bands) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Elastic เข้ากับตะขอบนแบร็กเก็ต ระหว่างฟันบนและฟันล่างเพิ่ม ทั้งนี้ก็เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างชุดฟันบนและชุดฟันล่างให้สบกันในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการบดเคี้ยว แต่อาการตึงๆ เจ็บๆ นั้นจะเป็นอยู่ประมาณ 2-5 วัน แล้วก็จะหายไปเอง

การปรับเครื่องมือจัดฟัน

จัดฟันเจ็บมากไหม

หลังจากทำการติดเครื่องมือจัดฟันเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะทำการนัดพบ เพื่อทำการปรับเครื่องมือจัดฟัน เปลี่ยนยางจัดฟัน หรือตรวจสภาพช่องปาก ทุก 4-8 สัปดาห์ ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่มีการปรับเครื่องมือจัดฟัน คนไข้อาจจะมีอาการเจ็บ หรือรู้สึกตึงๆ ได้ เพราะฟันมีการเคลื่อนตัวจากการที่ทันตแพทย์ต้องทำการดึงฟัน ด้วยการดึงเหล็กจัดฟันให้แน่นขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนยางจัดฟันด้วย

อาการเจ็บเมื่อลวดจัดฟันทิ่มเหงือก

ส่วนอาการเจ็บเมื่อลวดจัดฟันทิ่มเหงือกและกระพุ้งแก้มนั้น อาจจะมีเกิดขึ้นได้บ้าง ในกรณีที่ทันตแพทย์ทำการตัดลวดจัดฟันไว้ยาวจนเกินไป หากคนไข้เข้ารับการปรับเครื่องมือแล้วรู้สึกว่า มีลวดทิ่มกระพุ้งแก้มอยู่ก็สามารถแจ้งให้ทันตแพทย์ตัดลวดจัดฟันให้สั่นลงได้ แนะนำว่าอย่าปล่อยไว้เพราะอาจจะทำให้เกิดแผลภายในช่องปากที่สร้างความเจ็บปวดหรืออาจจะทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบตามมาได้อีก

ถอดเหล็กจัดฟันเจ็บไหม

อีกขั้นตอนที่คนไข้สงสัยว่าเจ็บไหมคือ การถอดเหล็กจัดฟัน ซึ่งขั้นตอนนี้คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บเลย แต่จะรู้สึกโล่งๆ ซึ่งจะใช้เวลาสักพักถึงจะชิน

ส่วนวิธีการถอดเหล็กจัดฟันนั้น ทันตแพทย์จะทำการถอดเครื่องมือออกจากฟันทีละซี่ และจะใช้หัวกรอละเอียดกรอฟัน เพื่อเอากาวที่ติดอยู่ออกทีละซี่ และให้คนไข้ X-Ray ฟิล์ม OPG หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟัน นอกเหนือจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าต้องการฟอกสีฟัน หรือทำทันตกรรมอื่นๆ หรือไม่ และหลังจากนั้นคนไข้จะต้องทำการใส่รีเทนเนอร์ไว้ ในช่วงแรกอาจรู้สึกมีน้ำลายมากกว่าปกติ หรือพูดไม่ชัดบ้าง แต่ถ้าหากปรับตัวได้แล้วอาการเหล่านี้จะหายไปเอง

วิธีบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังจัดฟัน

อาการเจ็บหลังจากทำการจัดฟันนั้นสามารถดูแลให้รู้สึกเจ็บน้อยลง หรือบรรเทาอาการปวดหรือเสียวฟันเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แต่คนไข้จะต้องไม่มีประวัติแพ้ยามาก่อน และไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เพราะจะทำให้มีผลเสียต่อกระเพาะอาหารได้
  • ใช้ขี้ผึ้งจัดฟัน (Orthodontic Wax) หากรู้สึกว่าเหล็กคมและบาดปากสามารถใช้ขี้ผึ้งจัดฟันที่ทางคลินิกให้มาแปะลงไปบนปลายเหล็กหรือแบรคเก็ตที่คม เพื่อป้องกันการบาดแผลจากเหล็กหรือการเกิดแผลร้อนใน
  • ใช้แผ่นแปะแก้ปวดฟัน อาจจะใช้บรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราวในระยะแรกหลังจากการจัดฟัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็ง หรืออาหารเหนียว เพราะจะทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เครื่องมือหลุดได้
  • ดูแลสุขภาพช่องปากเป็นพิเศษ ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันในการขจัดเศษอาหารเพิ่มเติม เพื่อป้องกันอาการฟันผุและเหงือกอักเสบที่คนจัดฟันมักเป็นกันอยู่บ่อยๆ
  • เปลี่ยนวิธีการเคี้ยวอาหาร โดยเน้นการเคี้ยวช้าๆ เพราะการเคี้ยวเร็วจะทำให้ปวดฟันและฟันอักเสบได้ และควรเคี้ยวด้วยฟันกราม เพราะการจัดฟันใหม่ๆ ฟันจะอ่อนไหวมาก การเคี้ยวด้วยฟันกรามจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้

คำถามที่พบบ่อย

จัดฟันวันแรกปวดไหม?

ในช่วงวันแรกอาจจะมีการอาการปวดหรือเจ็บจากการติดหรือปรับเครื่องมือจัดฟันใหม่ๆ ได้ ถ้าหากมีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟันมาก ให้ทานยาแก้ปวดได้ เช่น พาราเซตามอล หรือ PONSTAN ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ รวมถึงควรรับประทานอาหารอ่อนๆ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องใช้หรือเน้นการเคี้ยว เพราะอาจจะทำให้เครื่องมือจัดฟัน ที่ได้ติดไปใหม่นั้นหลุดหรือรู้สึกปวดเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

จัดฟันเจ็บกี่วัน?

ปกติแล้วอาการเจ็บหรือปวดจะค่อยๆ บรรเทาลงไปภายใน 3-5 วัน หรือในบางคนอาจจะมีอาการเจ็บนานถึง 1-2 สัปดาห์เลยทีเดียว (ขึ้นอยู่กับลักษณะของฟันและสุขภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน) เนื่องจากร่างกายจำเป็นต้องปรับตัวกับเครื่องมือก่อนในช่วงแรก แต่เมื่อมีการดึงฟันในเดือนต่อๆ ไปอาการปวดฟันจะลดน้อยลงตามไปด้วย

จัดฟันแบบไหนเจ็บ?

สำหรับเทคนิคในการจัดฟันนั้นจะมีระดับความเจ็บปวดที่แตกต่างกันไป แต่วิธีการที่หลายคนบอกว่า เจ็บหรือระคายเคืองส่วนใหญ่จะเป็นการจัดฟันแบบโลหะ แต่อาการปวดนั้นจะดีขึ้นภายใน 3-5 วัน โดยช่วงที่รู้สึกปวดสามารถทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดได้

แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ต้องลองศึกษาดูว่า วิธีการดัดฟันประเภทใดเหมาะสำหรับคุณมากกว่ากัน ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ จัดฟันมีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร ราคาเท่าไหร่ เลือกแบบไหนเหมาะกับคุณ 2021

จัดฟันแบบใสเจ็บไหม?

การจัดฟันแบบใสนั้นรู้สึกเจ็บน้อยมาก เมื่อเทียบกับการจัดฟันด้วยเทคนิคอื่นๆ แต่ในช่วงแรกอาจจะมีความรู้สึกตึงๆ บ้างจากการใส่เครื่องมือใหม่ และเครื่องมือนั้นกำลังทำงานเคลื่อนฟันของคุณไปตามทิศทางที่วางไว้ แต่หลังจากผ่านไป 1-2 วันจะเริ่มชินและรู้สึกเจ็บหรือตึงน้อยลง

ข้อสรุป ‘จัดฟันเจ็บไหม’

เป็นอย่างไรบ้าง อ่านมาถึงตรงนี้ยังกลัวการจัดฟัน หรือกลัวเจ็บอยู่ไหม ถ้าหากคุณยังมีเรื่องกังวลใจเกี่ยวกับการจัดฟันในส่วนอื่นๆ ที่ต้องการสอบถามกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อทำให้มั่นใจในการจัดฟันมากขึ้น แนะนำให้ลองติดต่อสอบถามกับคลินิกโดยตรง ซึ่งทาง คลินิกทันตกรรมสีวลี (Sivalee Dental Clinic) ยินดีให้คำปรึกษาและทำการนัดเข้าพบกับทันตแพทย์ให้คุณ เพื่อรับทราบรายละเอียด ขั้นตอนการเตรียมตัว ขั้นตอนการจัดฟัน ขั้นตอนการรักษา ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการจัดฟันด้วยเทคนิคต่างๆ โดยตรงได้เลยที่ Line และ Facebook

จัดฟันเจ็บไหม จัดฟันแบบไหนเจ็บ