การอุดฟัน คืออะไร มีกี่แบบ ใครควรอุดฟันบ้าง เจ็บไหม ราคาเท่าไหร่

การอุดฟัน

เกิดอาการปวดฟัน ฟันผุ หรือฟันแตกทีไร แม้รู้ทั้งรู้ว่าจะต้องไปทำการอุดฟัน แต่ก็รู้สึกว่ากลัวเจ็บ ไม่อยากไปพบทันตแพทย์หรือกลัวต้องเสียเวลานาน

แต่จริงๆ แล้วการอุดฟันนั้นเจ็บอย่างที่คิดหรือไม่ เลือกรูปแบบการอุดได้หรือเปล่า มีขั้นตอนการอุดและการดูแลตัวเองหลังจากทำการอุดฟันยังไงบ้าง เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นคำตอบที่หลายคนสงสัย แต่อาจจะยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด วันนี้เราจึงหยิบยกคำตอบทั้งหมดจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยทำให้คุณหายกังวลใจมาฝากกัน

การอุดฟัน คืออะไร

การอุดฟัน (Dental Filling) คือ การทำทันตกรรมเพื่อรักษาฟันที่ถูกทำลายจากปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันผุ ฟันแตก ฟันสึก ฟันกร่อน ฯลฯ ด้วยการใช้วัสดุสังเคราะห์ชนิดต่างๆ เติมเข้าไปในส่วนของฟันที่เสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันเกิดอาการผุ หรือเนื้อฟันถูกทำลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง

วัสดุอุดฟันมีกี่แบบ

สำหรับวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในการอุดฟันนั้นจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ วัสดุสีโลหะ และ วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน ซึ่งจะแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอะไรที่ต้องพิจารณาก่อนจะเลือกว่า ควรใช้วัสดุแบบไหนดี ลองไปดูคำตอบพร้อมๆ กันเลย

วัสดุอุดฟัน อุดฟันมีกี่แบบ

อุดฟันวัสดุสีโลหะ

การอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ เป็นการอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันที่เรียกว่าอมัลกัม (Amalgam) ทำมาจากการผสมกันของปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะ เวลาอุดฟันเสร็จแล้วจะเห็นตัววัสดุเป็นสีเงินหรือสีเทา ส่วนใหญ่จะใช้ในการอุดฟันกรามเเละฟันกรามน้อย เพราะมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงบดเคี้ยว และสีอาจจะไม่สวยเนียนไปกับสีฟัน

ข้อดีของวัสดุอุดฟันสีโลหะ

  • แข็งแรงและทนทาน
  • ราคาไม่แพง
  • ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก
  • ทนทานต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี
  • ยึดติดกับฟันได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องทำล็อกต่างๆ ให้วุ่นวาย
  • ประกันของทันตกรรม มักจะครอบคลุมค่ารักษาด้วยการอุดฟันแบบสีโลหะ

ข้อเสียของวัสดุอุดฟันสีโลหะ

  • มีสีที่ไม่เหมือนฟัน มองเห็นชัดว่าทำการอุดฟัน
  • ไม่เหมาะกับการอุดฟันหน้าหรือซี่ฟันที่มองเห็นได้ชัด
  • หลังอุดฟันต้องรอ 24 ชั่วโมงถึงจะใช้ฟันที่ทำการอุดในการบดเคี้ยวอาหารได้
  • มีส่วนผสมของปรอทและโลหะอื่นๆ ที่อาจจะเป็นพิษต่อร่างกายได้

อุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Resin Composite Filling) คือ การอุดฟันวัสดุอุดฟันสีเหมือนธรรมชาติเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุด ถูกพัฒนามาเพื่อให้ใช้อุดได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม หรือซี่ฟันที่สามารถมองเห็นได้ แต่วัสดุสีเหมือนฟันจะแข็งแรงไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยวัสดุโลหะ และมีขั้นตอนในการทำที่ยุ่งยากกว่า

ข้อดีของวัสดุอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

  • สีเหมือนกับฟันธรรมชาติ จึงเหมาะสำหรับใช้อุดฟันหน้าหรือฟันที่สามารถเห็นได้ชัด
  • ไม่มีสารปรอท
  • ไม่ต้องรอครบ 24 ชั่วโมงก็สามารถใช้บดเคี้ยวได้เลย

ข้อเสียของวัสดุอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

  • ราคาแพงกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ
  • มีความทนทานน้อยกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีโลหะ และรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่า
  • ใช้เวลาในการอุดฟันนานกว่า
  • สามารถติดสีจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค เช่น ชา, กาแฟ หรือจากการสูบบุหรี่

เคสไหนบ้างที่ควรอุดฟัน

คนที่จะต้องทำการอุดฟันจะมี ดังต่อไปนี้

  1. มีปัญหาฟันแตก ฟันผุ ปวดฟัน หรือฟันสึก ซึ่งตรวจแล้วพบว่าจะต้องรักษาฟันที่ถูกทำลายด้วยการอุดฟัน
  2. คนที่เคยอุดฟันมาแล้วแต่ว่ามีปัญหาที่อุดฟันแตกหรือที่อุดฟันหลุด
  3. มีปัญหาฟันห่าง โดยสามารถใช้วิธีอุดปิดช่องว่างระหว่างฟันจะใช้วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟันได้
  4. ต้องการปรับเปลี่ยนรูปร่าง หรือปรับเปลี่ยนสีของวัสดุอุดฟัน
  5. แปรงฟันแรงรวมถึงใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ ทำให้ผิวฟันบริเวณคอฟัน เกิดสึกกร่อนไป

สาเหตุที่ต้องอุดฟัน

สาเหตุที่ต้องทำการอุดฟัน เนื่องจากฟันที่ผุ แตก บิ่น หรือสึกอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เหงือกอักเสบ เป็นหนอง รากฟันเสื่อม หรืออาจจะลุกลามจนกลายเป็นโรคมะเร็งในช่องปากได้ นอกจากนี้การอุดฟันยังทำให้ฟันที่เป็นรูถูกเติมเต็มด้วยวัสดุอุดฟัน จนทำให้ลักษณะของฟันกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งจะช่วยปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรียหรือเศษอาหารตกเข้าไปจนเกิดความเสียหายแก่เนื้อฟัน เพื่อความสวยงาม เพิ่มประสิทธิภาพในการพูดคุย และช่วยใช้ในการบดเคี้ยวเพิ่มเติมได้ด้วย

อุดฟันเจ็บไหม

อุดฟันเจ็บไหม

ในระหว่างที่ทำการอุดฟัน หากไม่ได้ผุลึกมากอาจจะมีความรู้สึกเสียวบ้างเวลาทำการกรอฟัน แต่ถ้าหากปล่อยไว้จนผุลึกมากและใกล้กับโพรงประสาท ก็อาจจะรู้สึกเจ็บได้ แต่ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ให้ เพื่อที่คนไข้จะได้ไม่รู้สึกเจ็บ หรือเสียวฟันขณะทำการอุดฟัน ซึ่งยาชานี้จะออกฤทธิ์ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเจ็บจนทนไม่ไหว

ข้อดี – ข้อเสียของการอุดฟัน

ข้อดีของการอุดฟัน

  • ช่วยเติมเต็มฟันให้กลับมาบดเคี้ยวได้ปกติ
  • การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ช่วยทำให้ฟันกลับมาดูสวยงามอย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง
  • ช่วยป้องกันฟันผุลุกลามไปยังโพรงประสาทฟัน
  • ช่วยลดอาการปวดหรือเสียวจากฟันผุ

ข้อเสียของการอุดฟัน

  • วัสดุที่ใช้อุดฟันสามารถหลุดหรือเสื่อมอายุได้ แต่ถ้าดูแลดีๆ วัสดุอุดฟันก็จะอยู่กับคุณได้ยาวนานเป็นสิบๆ ปี
  • หากสูญเสียเนื้อฟันไปเป็นจำนวนมากจะไม่สามารถบูรณะฟันด้วยการอุดฟันได้

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนอุดฟันให้พร้อม มีดังต่อไปนี้

  1. ควรแปรงฟันและบ้วนปากมาจากที่บ้านเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจฟัน
  2. เข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการสุขภาพเหงือกและฟันก่อน หากฟันที่จะทำการอุดไม่ผุมากและมีเนื้อฟันเพียงพอก็สามารถทำการอุดฟันได้ แต่ถ้าหากมีการผุไปจนถึงโพรงประสาทฟันก็จะต้องทำการรักษารากฟันแทน
  3. หากมีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาอยู่จะต้องแจ้งให้ทางทันตแพทย์ทราบด้วย
  4. หากทำการอุดฟันสีโลหะควรรับประทานอาหารมาก่อน เพราะหลังจากทำการอุดฟันแล้วจะต้องรอ 24 ชั่วโมงจึงจะใช้ฟันซี่ที่อุดได้ตามปกติ
  5. หากมีฟันปลอมแบบถอดได้หรือรีเทนเนอร์ ต้องนำมาด้วย

ขั้นตอนการอุดฟัน

อุดฟัน

ขั้นตอนการอุดฟันนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด และใช้เวลาเพียงไม่นาน ลองมาดูกันดีกว่าวว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างที่ทางทันตแพทย์จะต้องลงมือรักษาหากคนไข้ต้องทำการอุดฟัน

  1. ทันตแพทย์ทำการตรวจสุขภาพของฟัน ตรวจสอบว่าฟันผุว่าลึกแค่ไหน สามารถรักษาด้วยการอุดฟันได้หรือไม่
  2. ในกรณีที่มีอาการฟันผุใกล้โพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ให้เพื่อลดอาการเจ็บ
  3. ถ้าฟันผุลึกเข้าไปชั้นในของเนื้อฟัน ทันตแพทย์จะใส่วัสดุรองพื้นที่มีคุณสมบัติในการปล่อยฟลูออไรด์ ช่วยลดการเสียวฟัน
  4. หากรักษาด้วยการอุดฟันได้ ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันเพื่อกำจัดฟันที่ผุออก และเตรียมฟันให้พร้อมสำหรับการอุด
  5. ทันตแพทย์ทำการอุดฟันด้วยวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน (หากใช้วัสดุอุดฟันเหมือนสีฟันจะต้องทำการใส่วัสดุเรซิน สลับกับการฉายแสง LED ให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้นๆ และปรับแต่งวัสดุจนได้ขนาดและรูปร่างที่เหมาะสมสวยงาม)
  6. ทันตแพทย์จะขัดวัสดุให้เรียบไปกับฟันเพื่อให้เนียนไปกับฟันธรรมชาติ
  7. ทันตแพทย์จะตรวจเช็กการสบของฟันด้วยการกัด โดยวัสดุอุดที่ดี จะต้องกัดพอดีกับฟันเดิมในช่องปาก ไม่สูงจนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันหลังอุด
  8. หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการนัดมาตรวจสอบสภาพฟันในอีก 1-2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนหลังการอุดฟัน

  • อาจพบอาการเสียวฟันหลังการรักษา 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าหากมีอาการเสียวฟันติดต่อกันเกิน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ให้รีบไปพบทันตแพทย์ทันที
  • ในกรณีที่ฟันผุลึกมากอาจจะมีการติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน อาจจะทำให้ปวดขึ้นมาได้ แนะนำให้กลับมาทำการรักษารากฟันเพิ่มเติม
  • หากสังเกตเห็นรอยแตก หรือวัสดุอุดฟันบางส่วนหายไป ควรรีบไปปรึกษาทันตแพทย์

การดูแลรักษาหลังการอุดฟัน

หลังจากทำการอุดฟัน คนไข้จำเป็นต้องดูแลตัวเองตามที่ทันตแพทย์ให้คำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆ เพราะวัสดุอุดฟันอาจแตก หรือฟันเสียหายได้
  • ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันให้ถูกวิธี รวมถึงใช้ไหมขัดฟันในการขจัดเศษอาหารระหว่างซอกฟันเพิ่มเติมด้วย
  • ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหากมีอาการเสียวฟัน ให้งดการรับประทานของเย็น ร้อนจัด การขัดของแข็ง อาการเสียวฟันจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลา และถ้าหากเกิน 1 เดือนยังไม่หาย แนะนำให้รีบเข้าพบทันตแพทย์ทันที
  • งดเคี้ยวหรือใช้งานฟันซี่ที่อุดด้วยวัสดุโลหะ 24 ชั่วโมง เพื่อให้วัสดุอุดฟันแข็งแรงและเข้ารูปเต็มที่
  • ควรกลับมาพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือนเพื่อทำการตรวจสุขภาพฟัน

ค่าใช้จ่ายอุดฟัน ราคาเท่าไหร่

อุดฟันราคา

อุดฟันราคาเท่าไหร่? ปกติแล้วราคาของการอุดฟันจะนับตามด้านของฟัน และขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบของวัสดุที่ใช้ รวมถึงการเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนในการทำทันตกรรมก็มีราคาที่แตกต่างกันด้วย เช่น

  • ราคาอุดฟันสีโลหะ เริ่มต้นที่ ด้านละ 500-600 บาท
  • ราคาอุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน เริ่มต้นที่ ด้านละ 600-900 บาท

แต่ถ้าคุณมีสิทธิ์ประกันสังคมก็สามารถใช้สิทธิ์ในการทำทันตกรรมได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

อุดฟัน ที่ไหนดี

สุดท้ายผลของการอุดฟันหรือการทำทันตกรรมใดๆ ก็ตาม จะออกมาดีและปลอดภัยหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ การเลือกคลินิกที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และสามารถให้คำปรึกษาเพิ่มเติมได้ ยิ่งถ้าได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์ พร้อมจัดเต็มเรื่องเครื่องมือที่ทันสมัยได้มาตรฐานด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยการันตีได้ว่า จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สะอาด และปลอดภัยอย่างแน่นอน

แต่สำหรับใครที่สนใจอยากเข้ามารับบริการหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการอุดฟันแบบละเอียด โดยมีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ สามารถมาที่ติดต่อคลินิกทันตกรรมสีวลี ซึ่งเราเปิดดำเนินการมามากกว่า 20 ปี เพื่อให้บริการและคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำทันตกรรมแบบครบวงจรได้โดยตรงแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้เลยที่ Line และ Facebook

คำถามที่พบบ่อย

ทำไมอุดฟันแล้วถึงควรกลับมาพบทันตแพทย์

มีหลายสาเหตุที่ทำการอุดฟันแล้วจะต้องกลับมาพบทันตแพทย์ เช่น เกิดปัญหาวัสดุอุดฟันหลุดหรือแตก จะต้องกลับมาอุดฟันอีก รู้สึกเจ็บฟันเวลาเคี้ยวอาหาร อาจจะเกิดเพราะวัสดุอุดฟันสูงเกินไป มีอาการเสียวฟันเกิน 2-3 อาทิตย์ เป็นต้น อีกทั้งกลับมาเพื่อขัดแต่งให้สวยงาม และตรวจว่าวัสดุอุดฟันยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ยังมีรูปร่างที่ถูกต้อง ไม่มีการบิ่นหรือแตกหัก

นอกจากเหนือจากการกลับมาพบแพทย์ด้วยสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากการอุดฟันในข้างต้นแล้ว การกลับมาตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือน เพื่อทำการขูดหินปูนหรืออุดฟันเพิ่มเติมก็ยังช่วยทำให้ฟันมีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรคที่ก่อให้เกิดการสูญเสียฟันไปแบบถาวรอีกด้วย

อุดฟันใช้ระยะเวลานานไหม

การอุดฟันใช้เวลาในการรักษาไม่นาน ต่อซี่จะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าหากอุดฟันที่ผุลึกหรืออุดฟันเพื่อความสวยงาม อาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

อุดฟันแก้ฟันห่างได้ไหม

การอุดฟันสามารถแก้อาการฟันห่างได้ ด้วยการอุดฟันจากวัสดุสีเหมือนฟัน และทันตแพทย์จะทำการปรับรูปของวัสดุอุดฟันให้เข้ากับฟันธรรมชาติ แต่การอุดปิดช่องว่างระหว่างฟันมีข้อจำกัด ตรงที่ไม่สามารถทำในบริเวณที่ช่องว่างใหญ่มากได้ ทันตแพทย์อาจใช้วิธีการจัดฟันหรือการทำวีเนียร์ที่ช่วยแก้ปัญหาในเคสที่ฟันห่างมากๆ แทน

อุดฟันแล้วปวดมากทำอย่างไร

หากอุดฟันมาแล้วมีอาการปวดฟัน สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์จัดไว้ให้ได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดรุนแรงไม่หาย แนะนำให้กลับไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบที่มาของอาการอีกที

ฟันที่อุดแตกทำอย่างไร

ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่โดยทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้การแตกของวัสดุอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดี อาจทำให้มีอาการปวด เสียวฟัน และการบาดเจ็บในช่องปากเพราะส่วนที่คมของวัสดุได้ นอกจากนี้อาการอาจจะลุกลามเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถบูรณะฟันได้ด้วยวิธีการอุดฟันเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากแก้ไขช้าก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสสูญเสียฟันซี่สำคัญไปได้เลยทีเดียว

อุดฟันจัดฟันได้ไหม

ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน หรือสีโลหะ ก็สามารถติดอุปกรณ์จัดฟันได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเปลี่ยนวัสดุให้เป็นสีเหมือนฟัน แต่ต้องแน่ใจว่า วัสดุอุดฟันนั้นมีสภาพปกติดี หากมีปัญหาวัสดุหลุดบางส่วนหรือแตก แนะนำให้ทำการอุดใหม่ก่อนทำการจัดฟัน

ข้อสรุป ‘การอุดฟัน’

การอุดฟัน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นวิธีการทำทันตกรรมที่ช่วยรักษาฟันซี่สำคัญเอาไว้ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานไป ปัญหาอาจลุกลามและอาจจะต้องเจ็บตัวจากการรักษาด้วยวิธีอื่นซึ่งเจ็บกว่าหลายเท่า ดังนั้น ถ้าหากอยากให้สุขภาพปากและฟันดีอย่างสม่ำเสมอแนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพภายในช่องปากเป็นประจำทุกปี หากมีฟันผุ ฟันแตก ฟันสึก ก็ให้รีบทำการอุดก่อนจะสาย และควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดช่องปากด้วยตัวเองตามที่ทันตแพทย์แนะนำด้วย