สะพานฟัน คืออะไร ต่างจากรากเทียมยังไง ราคาเท่าไร ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ?

สะพานฟัน

ใครที่กำลังมองหาวิธีการทำฟันปลอมอยู่ คงจะเคยได้ยินคำว่า ‘สะพานฟัน’ มาไม่มากก็น้อย ว่าแต่วิธีการทำสะพานฟันนั้นคืออะไร ต่างจากการทำทันตกรรมฟันปลอมประเภทอื่นๆ เช่น การทำรากเทียมอย่างไร ทำแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน ส่วนวิธีการดูแลล่ะต้องทำอย่างไรบ้าง ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะวันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับการทำฟันปลอมแบบติดแน่นอย่าง การทำสะพานฟัน จากปากของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาฝากกันแล้ว จะมีเรื่องอะไรที่คุณควรรู้บ้าง ตามไปดูพร้อมๆ กันได้เลย

สะพานฟัน คืออะไร

สะพานฟัน คือ การทำฟันปลอมแบบติดแน่นรูปแบบหนึ่ง โดยอาศัยฟันธรรมชาติซี่ที่อยู่ข้างเคียงกับช่องว่างเป็นหลักในการยึดฟันปลอม และทำการใส่ฟันเทียมทดแทนบริเวณช่องว่างฟันที่หายไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันบิ่น แตก หัก ร้าว หรือถูกถอนออกไป ทำให้ฟันกลับมามีรูปร่างสวยงามและสามารถใช้งานได้ตามปกติ

สะพานฟัน กับ รากฟันเทียม ต่างกันอย่างไร

หลายคนที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับการทำฟันปลอมอาจจะสงสัยว่า สะพานฟันกับการทำรากฟันเทียมแตกต่างกันอย่างไร?

สะพานฟันคือ

การทำสะพานฟัน : ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันบริเวณด้านข้างของช่องว่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวาให้มีขนาดซี่เล็กลง หลังจากนั้นทำเป็นสะพานฟันสามซี่ติดกันมาครอบทับลงไป และด้วยลักษณะที่คล้ายกับสะพานเชื่อม จึงถูกเรียกว่า ‘สะพานฟัน’ หรือจะวางไว้เหนือเสารากฟันเทียมเพื่อแทนที่ฟันที่หายไปหลายซี่ก็ได้

การทำรากเทียม : เป็นการฝังรากฟันเทียมลงไปในกระดูกขากรรไกรบริเวณที่สูญเสียฟันแบบเฉพาะซี่ แล้วจึงทำครอบฟันใส่บนรากฟันเทียมอีกที วิธีนี้จึงไม่เหมือนกับการทำสะพานฟันที่ต้องทำการกรอฟันด้านข้างออกแล้วทำการครอบฟันทับลงไป หรือจะทำเพื่อทดแทนฟันหลายซี่ก็ได้ แต่การทำรากเทียมจะเป็นการซ่อมแซมฟันเพียงซี่ที่สูญเสียไปแบบซี่ต่อซี่เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : รวมสิ่งที่ต้องรู้ รากฟันเทียม ทดแทนฟันแท้ คืออะไร ราคาเท่าไหร่ เตรียมตัวก่อนทำ

ทำไมต้องใส่สะพานฟัน

สาเหตุที่ต้องใส่สะพานฟันนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

  • เพื่อให้คนไข้สามารถใช้ฟันซี่ทดแทนนี้ในการรับประทานอาหารได้ตามปกติ และช่วยแบ่งและกระจายแรงเคี้ยวที่ฟันซี่อื่นๆ ต้องรับภาระหนักให้กลับมาเป็นไปตามปกติมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดแรงกดที่ฟันและกรามมากขึ้นจนมีอาการเจ็บปวดตามมาได้
  • ช่วยให้คนไข้สามารถยิ้มได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
  • ป้องกันการเคลื่อนตัวของฟันซี่อื่นๆ หรือการเกิดฟันล้มจากการที่มีช่องวางระหว่างฟันได้
  • ช่วยรักษารูปหน้าของคนไข้ เนื่องจากช่องว่างระหว่างฟันอาจส่งผลให้กระดูกขากรรไกรที่มีหน้าที่รองรับช่องปากและโหนกแก้มมีรูปร่างผิดปกติ และทำให้รูปหน้าดูเปลี่ยนไปได้
  • ช่วยป้องกันฟันผุจากการทำความสะอาดที่ยากกว่าปกติ

ส่วนประกอบของสะพานฟัน

ส่วนประกอบของสะพานฟันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วนคือ

สะพานฟันราคา

ส่วนที่ยึดติดกับฟันธรรมชาติ

จะเป็นอุปกรณ์ครอบฟันธรรมชาติ ซึ่งก่อนจะใส่จะต้องทำการกรอฟันซี่ที่ยังแข็งแรงข้างฟันซี่ที่หลุดออกไป ให้สามารถสวมครอบฟันไว้ได้ อาจจะมี 1-2 ตัว หรือมากกว่านี้ก็ได้ โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนส่วนยึดสะพานฟันไว้ให้ฟันอยู่กับที่

ฟันลอย (Pontic)

เป็นฟันปลอมที่ยึดติดกับส่วนที่ครอบฟัน แต่เมื่อทำการติดสะพานฟัน ตัวฟันลอยจะไม่ได้ยึดติดอยู่กับเหงือกของฟันที่หลุดไปจึงถูกเรียกว่า ‘ฟันลอย’ นั่นเอง

ประเภทของสะพานฟัน

ประเภทของสะพานฟัน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะการยึดติดของสะพานฟัน ดังนี้

1. สะพานฟันแบบทั่วไป

เป็นรูปแบบการทำสะพานฟันที่นิยมมากที่สุด โดยวัสดุการทำสะพานฟันจะทำจากเซรามิกหรือพอร์ซเลนหลอมกับเหล็ก โดยใช้สะพานฟันที่ยึดติดกับฟันธรรมชาติทั้ง 2 ข้างด้วยสิ่งที่เรียกว่า Pontic หรือตัวครอบฟันลอยหนึ่งซี่หรือมากกว่า ซึ่งใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไปนั่นเอง

2. สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว

เป็นสะพานฟันที่มีฟันปลอมยึดติดอยู่ข้างครอบฟันเพียงซี่เดียว ลักษณะของสะพานฟันจึงคล้ายกับติดกันอยู่ 2 ซี่ จึงเรียกว่า สะพานฟันแบบ 2 ซี่ วิธีการทำสะพานฟันแบบนี้จึงไม่กระทบกับฟันธรรมชาติมากนัก

3. สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ หรือ สะพานฟันที่ยึดด้วยวัสดุเรซิน (Resin-bond Bridge) เป็นการทำสะพานฟันที่มีฟันปลอมอยู่เพียงซี่เดียว แต่จะยึดฟันปลอมไว้ด้วยโครงเหล็กที่ทำการยึดฟันไว้ทั้งสองข้าง หน้าตาเครื่องมือจึงคล้ายกันผีเสื้อ

วัสดุในการทำสะพานฟัน

สำหรับวัสดุในการทำสะพานฟันซึ่งเป็นที่นิยม จะมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกและโลหะ (PFM Bridge)

Porcelain-fused to Metal หรือ PFM Bridge จะเป็นสะพานฟันที่ใช้เซรามิกคลุมบริเวณด้านนอกของโลหะผสม เพื่อความสวยงามและความแข็งแรงไปพร้อมกัน จึงเหมาะที่จะใช้ในการทำสะพานฟันสำหรับฟันหลังหรือฟันกรามที่ใช้ในการบดเคี้ยว ส่วนสีก็จะมีความเหมือนกับสีฟันธรรมชาติจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน

สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกล้วน (All Porcelain Bridge)

จะเป็นวัสดุที่มีสีเหมือนกับสีฟันธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักจะใช้สำหรับทำสะพานฟันด้านหน้าที่ต้องการความใส และสวยงามเหมือนกับสีฟันจริงของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังช่วยตัดปัญหาเรื่องการติดสีที่ขอบเหงือกจึงเป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน

สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบโลหะล้วน (All Gold Bridge)

จะเป็นวัสดุสะพานฟันที่แข็งแรงและทนทานมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการบิ่นหรือแตกเหมือนวัสดุเซรามิก ส่วนเรื่องสีจะมีลักษณะสีโลหะ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการความสวยงามแบบธรรมชาติ แต่อาจจะเหมาะสำหรับทำสะพานฟันด้านในหรือฟันกรามที่ใช้ในการบดเคี้ยวเป็นพิเศษ

ประโยชน์ของสะพานฟัน

ประโยชน์ของสะพานฟันนั้นมีส่วนช่วยในหลายๆ ด้าน เช่น

  • ด้านความสวยงาม ให้คุณสามารถกลับมายิ้มและพูดคุยได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง และช่วยทำให้คงสภาพรูปหน้าเดิมเอาไว้จากการสูญเสียฟันได้แล้วทำให้กระดูกขากรรไกรที่มีหน้าที่รองรับช่องปากและโหนกแก้มมีรูปร่างที่ผิดปกติไปจากเดิมได้
  • ด้านการใช้ชีวิต มีส่วนช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวจากฟันที่เหลืออยู่ ไม่ให้รับภาระในการบดเคี้ยวอาหารมากจนเกินไป อีกทั้ง ช่วยให้สามารถมีการบดเคี้ยวและการออกเสียงที่ดีได้ดังเดิมด้วย
  • ด้านสุขภาพภายในช่องปาก การทำสะพานฟันจะช่วยรักษาการสบฟันให้เป็นไปตามปกติ เพราะฟันมีครบคู่ทั้งบนและล่าง ช่วยรักษาตำแหน่งและการทำงานของฟันให้เป็นไปตามธรรมชาติ และช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาการล้มของฟันซี่ข้างเคียงมายังบริเวณช่องว่างของฟันที่สูญเสียไปได้เป็นอย่างดี

ข้อจำกัดของการทำสะพานฟัน

แม้การทำสะพานฟันจะมีข้อดีและมีประโยชน์สำหรับคนที่สูญเสียฟันไปแบบถาวร แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่คุณควรรู้ไว้เกี่ยวกับการทำสะพานฟัน ดังนี้

  • เนื่องจากไม่สามารถถอดออกได้ การทำสะพานฟันจะทำความสะอาดยากกว่าฟันธรรมชาติ หากดูแลความสะอาดไม่ดี อาจทำให้เกิดกลิ่นปากได้
  • หากมีปัญหาในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ จะไม่สามารถทำสะพานฟันได้ จนกว่าจะรักษาให้หายเป็นปกติก่อน
  • การทำสะพานฟันจำเป็นต้องกรอฟันซี่ข้างเคียงจนเล็กลง เพื่อให้เป็นฐานครอบฟันได้ ซึ่งถ้าใครคิดแล้วว่า ไม่อยากทำสะพานฟันเพราะจุดนี้ สามารถเลือกทำรากฟันเทียมทดแทนได้

ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำสะพานฟัน

ทำสะพานฟัน

การรักษาด้วยการทำสะพานฟันอาจจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์กว่าจะแล้วเสร็จ เนื่องจากมีกระบวนการและขั้นตอนหลายอย่าง ตั้งแต่การพิมพ์ฟันไปจนถึงขั้นติดสะพานฟัน ซึ่งจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง วันนี้เรารวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

1. เข้าพบทันตแพทย์ เพื่อทำการวางแผนการรักษาและพิมพ์ฟัน

โดยทันตแพทย์จะทำการวินิจฉัย วางแผนการรักษา เลือกวัสดุและประเภทของสะพานฟันที่เหมาะสมกับช่องปากของคนไข้มากที่สุด หลังจากนั้นคนไข้ต้องทำการพิมพ์ฟัน ทันตแพทย์จะทำการส่งแบบพิมพ์ไปยัง Lab เพื่อส่งไปทำสะพานฟันต่อไป

2. เตรียมช่องปากสำหรับการรักษา

ทันตแพทย์จะต้องทำการเคลียร์ช่องปากของคนไข้ ตรวจฟัน และทำการฉีดยาชาในบริเวณที่จะต้องทำการกรอฟันและทำสะพานฟัน

3. กรอฟันเพื่อเตรียมทำฐานให้สะพานฟัน

ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันเพื่อเป็นฐานให้แก่สะพานฟัน หากฟันที่เป็นฐานมีการอุดฟันไว้ ส่วนที่ถูกอุดฟันจะต้องดึงออก เนื่องจากจะมีการทำการครอบฟันลงไปแทนที่ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการติดสะพานฟันแบบชั่วคราวให้คนไข้สำหรับใช้งานระหว่างการรอสะพานฟันจริง ประมาณ 5-7 วัน

4. ติดสะพานฟันจริง

ทันตแพทย์จะทำการรื้อสะพานฟันชั่วคราวออก และทำการติดยึดสะพานฟันแบบถาวรบนฟันด้วยเรซินซีเมนต์ และตรวจสอบพร้อมปรับแต่งให้มีความเหมาะสมกับฟันธรรมชาติและช่องปากของคนไข้มากที่สุด

ข้อควรปฏิบัติหลังการเข้ารับการทำสะพานฟัน

  • งดการเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวในระยะเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังการทำสะพานฟันเสร็จ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อน เย็นหรือมีความเป็นกรดสูง
  • หากมีอาการเสียวฟันไม่ต้องตกใจ สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาได้
  • แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ จนกว่าจะรู้สึกชินกับสะพานฟัน
  • ทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี

วิธีการดูแลรักษาสะพานฟัน

  1. หมั่นแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งเช้า-เย็นด้วยวิธีการแปรงฟันแบบถูกวิธี นั่นคือวางหัวแปรงให้อยู่ระหว่างเหงือกและฟันในมุม 45 องศา และค่อยๆ แปรงเป็นวงกลมสั้นๆ ทีละซี่จนกว่าครบ
  2. ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันโรคฟันผุ
  3. บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก
  4. ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดซอกฟันเป็นประจำ
  5. ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และตรวจดูสะพานฟันเป็นประจำ ทุกๆ 6 เดือน

ทำสะพานฟันราคาเท่าไหร่

ถ้าถามว่า การทำฟันปลอมแบบติดแน่น หรือสะพานฟันราคาเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทของสะพานฟัน วัสดุที่ใช้ ซึ่งทันตแพทย์จะช่วยแนะนำวัสดุสำหรับทำสะพานฟันให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานฟันตำแหน่งนั้นๆ ให้กับคุณ เช่น ราคาทำสะพานฟันแบบทั่วไป เริ่มต้นที่ 9,000 บาทต่อซี่ หรือถ้าต้องการทำสะพานฟันด้วยวัสดุเซรามิกก็จะเริ่มต้นที่ 14,000 บาทต่อซี่

รายการ ราคา (ต่อซี่)
สะพานฟันแบบทั่วไป เริ่มต้นที่ 9,000 บาท
สะพานฟันแบบเซรามิก เริ่มต้นที่ 14,000 บาท

ทำสะพานฟันที่ไหนดี

สำหรับใครที่ต้องการทำสะพานฟัน แต่ไม่รู้ว่าจะเลือกคลินิกไหนดี เรามีวิธีการเลือกคลินิกที่ดีมีคุณภาพมาฝากกัน ดังต่อไปนี้

  • ดูเลขใบประกอบกิจการ 11 หลัก

เลข 11 หลักนี้จะมีติดอยู่ที่หน้าคลินิกในจุดที่สังเกตเห็นได้ง่าย หากคลินิกทันตกรรมนั้นได้มาตรฐานและได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากกระทรวงสาธารณสุข คุณจะสามารถตรวจรายละเอียดเกี่ยวกับคลินิกทันตกรรมได้ที่เว็บไซต์ privatehospital.hss.moph.go.th หรือโทร 02-193-7000

  • ความสะอาดและระบบการจัดการของคลินิก

เรื่องความสะอาดและการจัดการของคลินิกก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หากคลินิกดูแลคนไข้ดี ให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดอยู่เสมอ มีการรันคิวที่มีประสิทธิภาพ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความดูแลเอาใจใส่ได้เป็นอย่างดี

  • เครื่องมือที่ทันสมัย

การเลือกคลินิกที่ดีก็ควรดูเทคโนโลยีที่ใช้ โดยเทคโนโลยีต่างๆ ควรทันสมัย และมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกในการรักษาตั้งแต่ขั้นวินิจฉัย ไปจนถึงขั้นรักษา

  • ทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

ความน่าเชื่อถือและฝีมือของทันตแพทย์ก็คืออีกสิ่งบอกได้ว่า คุณควรจะฝากสุขภาพจองช่องปากไว้กับคลินิกนี้หรือไม่ โดยคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า ทันตแพทย์ที่จะเข้ามาดูแลในเคสของคุณนั้นเป็นใคร เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ทันตแพทยสภา (คลิกที่นี่) หากกรอกชื่อ-นามสกุลของทันตแพทย์แล้วพบข้อมูลก็แสดงว่า เป็นทันตแพทย์ที่ได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว

  • การให้คำปรึกษาทั้งก่อนทำและหลังทำ

หากเป็นคลินิกที่มีคุณภาพ คุณจะสามารถเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการปรึกษาและวินิจฉัยอาการก่อน ส่วนหลังจากรักษาเสร็จก็ควรจะมีนัดติดตามผลอย่างชัดเจน ไม่มีทิ้งเคสไปกลางคันแน่นอน

  • มีรีวิวจากคนไข้จริง

การที่จะรู้ว่าการรักษาเป็นอย่างไร คุณสามารถดูได้จากรีวิวของคนไข้ที่เคยรักษาในเคสเดียวกันกับคุณ อาจจะต้องทำการค้นหาใน google หรือค้นหาจากเว็บไซต์ของคลินิกทันตกรรมนั้นๆ แทน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำสะพานฟัน

อายุการใช้งานของสะพานฟัน

ปกติแล้วสะพานฟันมีอายุการใช้งานประมาณ 5-7 ปี แต่ถ้าหากดูแลและทำความสะอาดช่องปากเป็นอย่างดี รวมถึงขยันเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพในช่องปากว่ามีฟันผุหรือไม่ อุปกรณ์สึกหรอหรือเปล่า และมีหินปูนที่จะต้องทำการขูดมาก-น้อยแค่ไหนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน ก็อาจทำให้สะพานฟันมีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

สะพานฟันหน้า ทำได้หรือไม่

สามารถทำสะพานฟันที่บริเวณฟันหน้าได้ตามปกติ แต่ควรเลือกทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำทันตกรรมประเภทนี้โดยตรงเพื่อให้สะพานฟันออกมาดูเหมือนกับฟันธรรมชาติ รวมทั้งเลือกใช้วัสดุที่ทำออกมาใกล้เคียงกับสีฟันจริงด้วย เช่น สะพานฟันประเภทเซรามิกผสมโลหะ และแบบเซรามิกล้วน เป็นต้น

ทำสะพานฟันหน้าจัดฟันได้ไหม

หากทำสะพานฟันอยู่สามารถจัดฟันได้ เนื่องจากรากของฟันซี่ที่อยู่ติดกับช่องว่างนั้นยังเป็นรากฟันเดิมอยู่ทำให้สามารถจัดฟันเพื่อเคลื่อนตำแหน่งของฟันได้ตามปกติ ซึ่งถ้าทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่า ยังสามารถใส่สะพานฟันเพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันได้อยู่ ก็อาจจะไม่เคลื่อนตำแหน่งฟันที่ทำการใส่สะพานฟัน หลังจากทำการจัดฟันเสร็จแล้ว ก็ทำการครอบฟันบริเวณช่องว่างและฟันซี่ข้างเคียงไว้เหมือนเดิม

สะพานฟันหน้า เบิกประกันสังคมได้ไหม

การทำฟันเทียมชนิดติดแน่นจะไม่สามารถทำการเบิกประกันสังคมได้ ถ้าหากต้องการเบิกประกันสังคมจะต้องเลือกเป็น 2 วิธี ดังนี้

1. การทำฟันเทียมชนิดถอดได้ หากทำในจำนวน 1-5 ซี่ จะได้เท่าที่จ่ายในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท หรือในกรณีที่ทำมากกว่า 5 ซี่ ได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

2. การทำฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง โดยสามารถเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

ข้อสรุป การทำสะพานฟัน

การทำสะพานฟัน (Dental Bridge) ถือเป็นวิธีการทำทันตกรรมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็มีข้อดีและข้อจำกัดอย่างที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดในบทความนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ ปัญหาสุขภาพในช่องปาก รวมถึงดุลยพินิจของทันตแพทย์ด้วยว่า การทำสะพานฟันนี้สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องฟันให้กับคุณได้ดีที่สุดหรือไม่

ซึ่งถ้าหากคุณสงสัยและต้องการเข้ารับการประเมินสุขภาพของเหงือกและฟันก่อนตัดสินใจ สามารถติดต่อทาง คลินิกทันตกรรมสีวลี (Sivalee Dental Clinic) ของเราได้โดยตรง เพื่อเข้ารับบริการและขอคำแนะนำจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง สนใจติดต่อมาได้เลยที่ Line และ Facebook